รพ.สัตว์โอะไดจินิ | เปิด 24 ชั่วโมง

หน้าฝนแบบนี้ ระวังงูกันให้ดี!!!


        ช่วงหน้าฝนแบบนี้ สุนัขและแมวหลายตัวอาจชอบการออกไปเล่นนอกบ้านตากฝนกันซักหน่อย  แต่รู้หรือไม่ว่าในช่วงหน้าฝนมีภัยอันตรายใกล้ตัวที่เราคาดไม่ถึง  หนึ่งในนั้น ก็คือ งู  บางครั้งที่เราปล่อยสุนัขหรือแมวของเราออกไปเดินเล่นข้างนอกบ้าน ด้วยนิสัยที่อยากรู้  อยากเล่นของสุนัขหรือแมวอาจบังเอิญไปเจองู  แล้วกลับมาพร้อมรอยเลือดตามตัว ซึ่งเจ้าของอาจจะเจอรอยเขี้ยว รอยกัด  หรือไม่แน่ใจแต่สงสัยว่าถูกงูกัดมา  ให้รีบพาไปพบสัตวแพทย์โดยเร็วที่สุดนะครับ

        อย่างแรกต้องบอกก่อนว่า งูนั้นมีทั้งแบบ ไม่มีพิษ และแบบ มีพิษ  ซึ่งถ้าหากถูกงูไม่มีพิษกัด จะไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกายสัตว์ แต่ต้องล้างแผล ทำความสะอาดแผลอย่างสม่ำเสมอ เพราะว่าเขี้ยวของงูนั้นค่อนข้างสกปรก อาจจะเกิดการติดเชื้อโรคอื่นๆ แทรกซ้อนได้นั่นเองครับ   ถ้าหากถูกงูที่มีพิษกัด อันนี้ถือว่าเป็นสิ่งที่ฉุกเฉิน  ค่อนข้างอันตรายถึงชีวิต  อย่างแรกที่เจ้าของต้องทำ คือ รีบหาบาดแผล รอยงูกัดตามตัว ใช้น้ำสะอาดล้างแผลและบริเวณโดยรอบ, ห้ามทำการมัดแผลบริเวณเหนือรอยกัดโดยเด็ดขาด เพราะจะทำให้เกิดเนื้อตายจากการขาดเลือดได้  และให้พยายามสังเกตลักษณะ ชนิดของงูนั้น  ถ่ายรูป  หรือเก็บซากงู แล้วนำไปให้สัตวแพทย์ดูเพื่อการวินิจฉัยแยกชนิดงู เพื่อให้การรักษาได้อย่างถูกต้องตรงกับชนิดงูนั่นเองครับ 

        อาการเบื้องต้นหลังจากถูกงูกัดจะมีอาการปวด บวม แดง ร้อน และอักเสบบริเวณที่โดนกัด แต่งูบางชนิดนั้นบริเวณรอยกัดก็ไม่มีอาการปวด บวมให้เห็นก็เป็นได้

        อาการที่จำเพาะจากการที่งูมีพิษกัดนั้น หลัก ๆ แบ่งเป็น 2 แบบคือ
  1. อาการทางระบบประสาท จะมีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง ตอบสนองช้า เป็นอัมพาต  โดยอาจเกิดกล้ามเนื้อที่เกี่ยวกับการหายใจ เช่น กระบังลม ทำให้การทำงานล้มเหลว เป็นเหตุให้สัตว์ไม่หายใจ และเสียชีวิตในเวลารวมเร็วได้   ซึ่งอาการอาจจะเกิดขึ้นได้ตั้งแต่ 3 ชั่วโมง จนถึง 12 ชั่วโมง อาการทางระบบประสาทในกลุ่มนี้เกิดได้จากงู ดังต่อไปนี้  งูเห่า  งูจงอาง  งูสามเหลี่ยม  และงูทับสมิงคลา เป็นต้น


    งูจงอาง พิษระบบประสาท


    งูเห่า พิษระบบประสาท


    งูสามเหลี่ยม พิษระบบประสาท


    งูทับสมิงคลา พิษระบบประสาท

  2. อาการทางระบบเลือด พิษของงูกลุ่มนี้ จะทำให้กลไกของแข็งตัวของเลือดในร่างกายสัตว์ที่ถูกกัดถูกขัดขวาง ส่งผลให้เลือดออกจากบาดแผลไม่หยุด และจะเกิดเลือดออกตามช่องว่างต่างๆ ของร่างกาย เช่น จมูก, เลือดออกตามไรฟัน, ทางเดินปัสสาวะ ทำให้ฉี่เป็นเลือด, ทางเดินอาหาร อาจจะเกิดการอาเจียน ถ่ายเป็นเลือด พบจุดเลือดออกตามผิวหนัง  ส่งผลให้สัตว์เสียเลือดมากจนเสียชีวิตได้  นอกจากนี้พิษของงูแมวเซาจะทำให้เกิดไตวายร่วมด้วย อาการในกลุ่มนี้เกิดจากงู ดังต่อไปนี้  งูเขียวหางไหม้  งูแมวเซา  และงูกะปะ เป็นต้น

งูเขียวหางไหม้ พิษระบบเลือด


งูแมวเซา พิษระบบเลือด


งูกะปะ พิษระบบเลือด

        การรักษาพิษจากงูกัด สัตวแพทย์จะทำการซักประวัติ ระยะเวลาหลังจากถูกกัด ถามลักษณะและชนิดของงูที่กัด ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างมากต่อการรักษา  ทำการตรวจร่างกาย   และตรวจเลือด  สุนัขบางตัวนั้นยังไม่แสดงอาการของพิษเมื่อมาถึงโรงพยาบาล  จึงต้องคอยสังเกตอาการ  ถ้าหากสุนัขหรือแมวมาด้วยอาการไม่หายใจ   หัวใจหยุดเต้น   สัตวแพทย์จะทำการกู้ชีพ ให้อาการคงที่ และอาจประคองอาการด้วยการสอดท่อช่วยหายใจ  ให้น้ำเกลือ  จากนั้นทำการรักษาเพื่อลดความรุนแรงของพิษงู  ด้วยการให้เซรุ่มต้านพิษงูที่ตรงกับชนิดของงูพิษนั้นๆ  แต่ก็มีความเสี่ยงต่อการแพ้เซรุ่มได้เช่นกัน  ในบางครั้งการที่สุนัขและแมวถูกงูพิษกัด  แต่ไม่ถูกปล่อยพิษทำให้อาจไม่มีอาการใดๆ  ให้เห็นได้  ทั้งนี้ สัตวแพทย์จึงเลือกให้เซรุ่มเฉพาะราย  ตามความเหมาะสมโดยไม่จำเป็นต้องให้เซรุ่มทุกราย 

        หลังจากแก้ปัญหาเรื่องพิษงูได้แล้ว จึงทำการรักษาอื่น ๆ เช่น การให้ออกซิเจน ให้น้ำเกลือ และยาแก้ปวด เป็นต้น และเมื่ออาการดีขึ้น และคงที่แล้ว ก็จะมีการตรวจเลือดตรวจสภาพร่างกายอีกครั้งก่อนอนุญาตให้เจ้าของรับกลับไปดูแลต่อที่บ้านต่อไปได้ครับ


Written by Webmaster
Published on 24 August 2020
ทีมสัตวแพทย์ประจำ
โรงพยาบาลสัตว์โอะไดจินิ
ผู้สนับสนุนบทความ
• ด้านล่างเป็นเพียงส่วนของการคอมเม้นบทความเท่านั้น หากท่านต้องการสอบถามปัญหาสุขภาพสัตว์เลี้ยง กรุณาเข้าไปที่ http://www.facebook.com/odaijinipet และส่งข้อความเข้าสอบถามใน Inbox ท่านจะได้การตอบกลับโดยเร็วที่สุด และหากเป็นเรื่องเร่งด่วนอยากได้คำตอบโดยเร็วโทรสอบถามได้ที่ 02-9485099 ขอบคุณค่ะ :)