รพ.สัตว์โอะไดจินิ | เปิด 24 ชั่วโมง

ภาวะกระเพาะอาหารขยายและบิดตัว (Gastric-dilatation volvulus)


        ภาวะกระเพาะอาหารขยายและบิดตัว (Gastric-Dilatation Volvulus) คือ การที่กระเพาะอาหารมีการขยายตัวคล้ายลูกโป่ง เนื่องจากการสะสมของแก๊ส  น้ำ  และ/หรืออาหารที่กินเข้าไปมากกว่าปกติ ร่วมกับการที่กระเพาะมีการบิดตัว  ทำให้เกิดการขัดขวางการไหลเวียนของเลือด ซึ่งนำไปสู่ปัญหาต่างๆ ตามมาที่อันตรายจนถึงแก่ชีวิต  โดยมีอัตราการเสียชีวิตสูงถึง 30% อาการที่สามารถสังเกตได้ อย่างเช่น สุนัขดูปวดท้อง ท้องบวม  อาเจียน  หายใจลำบาก  และเหงือกดูซีด  เป็นต้น

        สาเหตุของการเกิดภาวะกระเพาะขยายและบิดตัวนั้นยังไม่เป็นที่แน่ชัด แต่ปัจจัยเสี่ยงที่มีผลทำให้เกิดภาวะดังกล่าวนั้น ก็คือ

  1. การที่สุนัขมีการเคลื่อนไหว กระโดด นอนกลิ้งตัว ในขณะที่มีอาหารเต็มกระเพาะอาหาร ทำให้มีโอกาสเกิดกระเพาะบิดตัว หรือพลิกไปจากแนวเดิม
  2. การกินอาหารปริมาณมากในมื้อเดียว, พฤติกรรมการกินที่กินอาหารเร็ว
  3. พันธุกรรมของสุนัข สุนัขที่มีความเสี่ยงมากกว่ามักเป็นสุนัขพันธุ์ใหญ่ โดยเฉพาะสุนัขสายพันธุ์อกลึก เช่น German Shepherd, Standard Poodle, Great Dane, Saint Bernard แต่ก็สามารถพบในสุนัขพันธุ์เล็กได้เช่นกัน


    สุนัขพันธุ์ Saint Bernard เป็นหนึ่งในพันธุ์ที่มีความเสี่ยงสูงที่จะเป็นโรคนี้


    สุนัขพันธุ์ German Shepherd เป็นหนึ่งในพันธุ์ที่พบได้บ่อยว่าเป็นโรคนี้


    สุนัขพันธุ์ Great Dane เป็นอีกหนึ่งในพันธุ์ที่พบได้บ่อยว่าเป็นโรคนี้

 

        อาการที่แสดงออกเมื่อสุนัขมีภาวะกระเพาะขยายและบิดตัว ได้แก่ บริเวณท้องดูบวมโต ขยายใหญ่  อาจมีอาการอาเจียน  ปวดท้อง  กระวนกระวาน  อยู่ไม่นิ่ง หายใจตื้น ๆ สั้น ๆ หายใจลำบากเหงือกซีด  นอนขดตัว  หมดสติ เป็นต้น

        การวินิจฉัยภาวะดังกล่าว คุณหมอพิจารณาได้จากพันธุ์สุนัข  การซักประวัติ  อาการที่แสดงออก  ร่วมกับการ X-ray ที่จะพบว่ากระเพาะมีการขยายตัว และเต็มไปด้วยแก๊สภายในกระเพาะ นอกจากนี้อาจจะทำการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจเพื่อดูการเต้นของหัวใจร่วมด้วย



ภาพ X-ray ช่องท้องปกติ จะเป็นกระเพาะอาหาร (Stomach) ตามรูป



2 รูปนี้ เป็นภาพ X-ray สุนัขที่มีปัญหากระเพาะอาหารขยายใหญ่ และบิด โดยมีแก๊ซสะสมเต็มท้อง

        ในส่วนของการรักษาและการป้องกัน เนื่องจากเป็นภาวะฉุกเฉินต้องได้รับการแก้ไขอย่างโดยด่วน เมื่อพบอาการข้างต้น แนะนำให้รีบพามาพบสัตวแพทย์โดยเร็วที่สุด โดยการแก้ไขเบื้องต้นทำได้โดยการลดความดันภายในกระเพาะอาหารด้วยการสอดท่อผ่านทางช่องปาก


ภาพแสดงการเตรียมการสอดท่อ เพื่อระบายแก๊ซออกจากกระเพาะเพื่อลดความดัน เป็นการแก้ปัญหาชั่วคราว

        แต่วิธีข้างต้นเป็นเพียงการแก้ไขชั่วคราวเท่านั้น สุนัขอาจจะกลับมาเป็นอีกได้ ถ้าหากไม่ได้รับการแก้ไขอย่างถาวร การจะแก้ไขได้อย่างถาวรต้องทำการรักษาด้วยการผ่าตัดโดยการพลิกกระเพาะอาหารกลับในแนวเดิม และเย็บตรึงติดกับผนังช่องท้อง เพื่อลดการกลับมาเกิดภาวะดังกล่าวซ้ำอีกครับ

   


Written by Webmaster
Published on 24 August 2020
ทีมสัตวแพทย์ประจำ
โรงพยาบาลสัตว์โอะไดจินิ
ผู้สนับสนุนบทความ
• ด้านล่างเป็นเพียงส่วนของการคอมเม้นบทความเท่านั้น หากท่านต้องการสอบถามปัญหาสุขภาพสัตว์เลี้ยง กรุณาเข้าไปที่ http://www.facebook.com/odaijinipet และส่งข้อความเข้าสอบถามใน Inbox ท่านจะได้การตอบกลับโดยเร็วที่สุด และหากเป็นเรื่องเร่งด่วนอยากได้คำตอบโดยเร็วโทรสอบถามได้ที่ 02-9485099 ขอบคุณค่ะ :)