รพ.สัตว์โอะไดจินิ | เปิด 24 ชั่วโมง

น้องหมากับหน้าร้อน อันตรายที่คาดไม่ถึง


        ใกล้เข้าหน้าร้อนแบบนี้ ใครๆ ก็บ่นว่าร้อนกันไปหมด ทั้งแดดทั้งอากาศแบบนี้สู้ไม่ไหวจริงๆ ค่ะ บอกเลย ไม่ใช่แต่คนอย่างเราๆ ที่จะร้อนเป็นนะคะ น้องหมาที่น่ารักของเราก็ร้อนได้ไม่แพ้กัน แถมน้องหมาของเราอาจจะบ่น หรือพูดบอกกับเราไม่ได้เหมือนคนทั่วไปอีกต่างหาก  แล้วจะทำยังไงดีน้า ถึงจะรู้ว่าน้องหมาของเราเค้าร้อนจนเกินไปกันค่ะ


        อาการที่จะสามารถสังเกตเห็นได้ในน้องหมาที่เริ่มพบภาวะผิดปกติจากอากาศร้อนนั้น ได้แก่ 
  • มีการหายใจที่ผิดปกติไป หายใจแรงขึ้น ถี่ขึ้น หรือเรียกง่ายๆ ว่าหอบนั้นเองค่ะ
  • อุณหภูมิร่างกายสูงขึ้น จับตัวแล้วน้องหมาดูตัวร้อนผิดปกติ หากไม่แน่ใจควรใช้ปรอทวัดไข้ โดยอุณหภูมิปกติของสุนัขควรจะอยู่ที่ประมาณ 38-39 องศาเซลเซียส (C) หรือ 100-102.5 องศาฟาเรนไฮน์ (F) ค่ะ
  • เหงือกสีแดงเข้ม น้ำลายไหลเยอะ บางครั้งอาจพบจุดเลือดออกตามตัว
  • บางตัวมีอาเจียน หรือถ่ายเหลว เป็นเลือด  



        ซึ่งอาการที่ยกตัวอย่างไปเป็นเพียงแค่อาการที่เจ้าของจะพอสังเกตได้นะคะ หากพบอาการข้างต้นแล้ว แนะนำให้รีบพามาพบสัตวแพทย์ใกล้บ้านให้เร็วที่สุด เพราะบางครั้งหากปล่อยไว้นานเกินไป  อาจจะทำให้น้องหมาของเราถึงขั้นเสียชีวิตได้เลยค่ะ โดยอาการที่กำลังพูดถึงอยู่นี้ เค้าเรียกกันว่า ฮีทสโตรก (Heat Stoke)  ภาวะลมแดดหรือลมร้อนนั่นเองค่ะ ภาวะนี้พบได้ทั้งในคนและในสัตว์ โดยสามารถเกิดขึ้นได้เนื่องจากว่าน้องหมาของเราไม่สามารถระบายความร้อนภายในร่างกายได้หรือระบายได้ไม่ทัน  อาจจะอยู่ในที่ที่อากาศร้อนมาก  ความร้อนในร่างกายไม่สามารถถ่ายเทออกมาได้  จึงทำให้เกิดภาวะนี้ขึ้น  เพราะการระบายความร้อนของน้องหมาก็คล้ายกับในคนเราคือ ระบายออกมาที่ต่อมเหงื่อ แต่ติดตรงที่ว่าต่อมเหงื่อในน้องหมาของเรานั้นมีน้อยกว่าคนเรามากเท่านั้นเองค่ะ ซึ่งต่อมเหงื่อของน้องหมาจะอยู่ในบริเวณที่ไม่มีขน อย่างเช่น ที่เท้า ใต้ท้อง หรือใบหูค่ะ 


        สาเหตุทำให้ให้เกิดภาวะฮีทสโตรกนี้ ไม่เฉพาะเป็นแค่ตอนหน้าร้อนเท่านั้นนะคะ มีหลายปัจจัยสุ่มเสี่ยงที่มีโอกาสทำให้เกิดภาวะนี้ได้อีก


  • สาเหตุหลักๆ คือ อยู่ในที่อากาศภายนอกร้อนมากเป็นเวลานาน หรือเจ้าของบางคนเผลอลืมตัวทิ้งน้องหมาไว้ลำพังบนรถ ข้อนี้ก็พึงระวังนะค่ะ เพราะเพียงแค่ 30 นาทีที่ทิ้งน้องหมาไว้บนรถ อุณหภูมิภายในสามารถเพิ่มได้เกือบ 5 องศาเซลเซียสเลยทีเดียวในหน้าร้อนอย่างนี้
  • น้องหมาบางพันธุ์อาจมีความเสี่ยงที่มากกว่า จำพวกน้องหมาพันธ์ุหน้าสั้น เช่น bulldog, pug หรือน้องหมาที่มีคนขนยาวหนา  




  • น้องหมาออกกำลังมากเกินไปจนเกินพอดี  หรือออกกำลังกายในที่ที่อากาศร้อนหรือมีแดดมากเกินไป  น้องหมาที่อ้วน  หรืออายุค่อนข้างเยอะ ก็สุ่มเสี่ยงที่จะเกิดภาวะนี้ได้ง่ายนะคะ
  • น้องหมาที่มีปัญหาสุขภาพทางระบบหายใจหรือโรคหัวใจ รวมไปถึงอาจมีการติดเชื้ออยู่ภายในก็ส่งผลต่ออุณหภูมิร่างกายที่สูงขึ้นได้ค่ะ
การดูแลเบื้องต้น 

        ระหว่างที่เจ้าของบางคนไม่แน่ใจหรือมั่นใจแน่ๆ ว่าน้องหมาของเราเข้าข่ายภาวะ Heat Stoke นี้
  • ให้พยายามลดอุณหภูมิในตัวน้องหมาให้ได้ โดยอาจจะทำการเช็ดตัวลดอุณหภูมิ โดยไม่ควรใช้น้ำแข็งที่เย็นจัดเกินไป เพราะบางครั้งการเปลี่ยนอุณหภูมิที่รวดเร็วเกินไปอาจทำให้น้องหมาของเราช็อคได้ค่ะ 
  • ย้ายให้อยู่ในที่ที่อากาศถ่ายเทสะดวก ไม่ร้อนจนเกินไป
  • รีบพามาให้สัตวแพทย์ทำการรักษาโดยด่วน เพื่อจะได้ทำการลดอุณหภูมิ ให้สารน้ำเข้าร่างกาย รวมถึงการตรวจเช็คเลือดเพื่อวินิจฉัยหาความผิดปกติ  อาการป่วยร่วมด้วย  รวมถึงความเสียหายกับอวัยวะต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากภาวะ Heat Stock ต่อไปได้ เพราะน้องหมาบางตัวหากปล่อยทิ้งไว้  อุณหภูมิร่างกายที่สูงขึ้น นอกจากจะทำอันตรายกับอวัยวะภายในร่างกายแล้ว ยังอาจทำให้น้องหมาเสียชีวิตได้ค่ะ 
การป้องกันที่ดีไม่ยากเลย 
  • หลีกเลี่ยงการให้น้องหมาอยู่ในที่ร้อนจัดเกินไป หากไม่มีแอร์เพื่อเพิ่มความเย็น อาจจะพัดลมเป่าระบายอากาศ รวมทั้งให้น้องหมาอยู่ในที่ที่อากาศถ่ายเทได้สะดวก ไม่อยู่ในห้องปิดทึบ
  • ไม่ควรทิ้งน้องหมาไว้บนรถเพียงลำพังเด็ดขาดไม่ว่ากรณีใดๆ ก็ตาม
  • หากพาน้องหมาออกไปภายนอก หรือออกกำลังกาย ควรพกน้ำของน้องหมาติดตัวไปด้วยเสมอ และระมัดระวังในเรื่องการออกกำลังกาย อย่าหักโหมจนเกินไป โดยเฉพาะน้องหมาพันธุ์สุ่มเสี่ยง



  • หมั่นสังเกตอาการน้องหมาอย่างใกล้ชิดอยู่เสมอนะคะ เพราะอะไรๆ ก็เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา อย่าทิ้งน้องหมาไว้คนเดียวนานเกินไป ไม่ใช่เฉพาะหน้าร้อนแบบนี้ แต่ทุกเวลาก็มีโอกาสทำให้น้องหมาเกิดภาวะนี้ได้ค่ะ




ขอบคุณรูปภาพและข้อมูลจาก www.pethealthnetwork.com, veterinaryofficeassistant.com, bowwowtimes.com, cdndogs.ca/5-tips-for-heatstroke

Written by Webmaster
Published on 15 March 2016
สพ.ญ.นนท์นฤน เกิดสุข
สพ.ญ.นนท์นฤน เกิดสุข
อายุรกรรมทั่วไป
ผู้สนับสนุนบทความ
• ด้านล่างเป็นเพียงส่วนของการคอมเม้นบทความเท่านั้น หากท่านต้องการสอบถามปัญหาสุขภาพสัตว์เลี้ยง กรุณาเข้าไปที่ http://www.facebook.com/odaijinipet และส่งข้อความเข้าสอบถามใน Inbox ท่านจะได้การตอบกลับโดยเร็วที่สุด และหากเป็นเรื่องเร่งด่วนอยากได้คำตอบโดยเร็วโทรสอบถามได้ที่ 02-9485099 ขอบคุณค่ะ :)