รพ.สัตว์โอะไดจินิ | เปิด 24 ชั่วโมง

โลกกว้างอีกใบของเหล่าน้องหมา


โลกกว้างอีกใบของเหล่าน้องหมา

        วันนี้เราจะมาพาน้องหมาที่บ้าน ออกมาสู่สังคมโลกกว้างกันดีกว่าค่ะ แต่คำว่าโลกกว้างในที่นี้ อาจจะไม่ได้หมายถึงการพาน้องหมาของเราไปสถานที่ไกลๆ นะคะ แต่แค่พาเค้าออกมาเปิดหูเปิดตา พบปะ เจอะเจอผู้คน หรือสัตว์ตัวอื่นๆ บ้าง หรือพูดง่ายๆ คือ พาน้องหมาของเรา ”เข้าสังคม” นั่นเองค่ะ  ถ้าจะพูดถึงเรื่องการเข้าสังคม ไม่ใช่แค่คนเท่านั้น ที่จะต้องมีสังคมนะคะ แต่น้องหมาของเราก็เช่นกัน ที่ควรจะเลี้ยงให้มีสังคม มีเพื่อนในส่วนของเค้า   เพราะการที่เราไม่ได้ปล่อยให้น้องหมาเจอคนอื่นๆ หรือออกข้างนอกบ้าง อาจมีผลต่อการพัฒนาทางด้านต่างๆ  และอาจส่งผลให้เค้ามีความเครียด ก้าวร้าว และดุร้ายเพิ่มขึ้นได้ค่ะ  

การเข้าสังคมดีอย่างไร 



        ว่ากันว่าการเข้าสังคม เป็นพื้นฐานของการเป็นน้องหมาที่ดี ที่น่ารัก  เพราะเป็นช่วงสำคัญ  ที่จะฝึกให้เค้ามีการปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดรอบข้างได้ดี  แต่ต้องบอกก่อนนะคะว่า ต้องเป็นในช่วงเวลาที่เหมาะสมด้วย  มีตัวอย่างยืนยันได้จากการทดสอบระหว่างน้องหมาสองกลุ่มด้วยกัน  กลุ่มแรก คือ น้องหมาที่มีการฝึกให้เข้าสังคมนั้นสามารถลดพฤติกรรมที่ก้าวร้าว และการเกรงกลัวต่อสิ่งใหม่ๆ ที่พบเจอได้ดีทีเดียวค่ะ ถ้าเทียบกับน้องหมาอีกกลุ่มที่ไม่ได้ถูกพาเข้าสังคม จะพบว่ามีความตื่นกลัวกว่ากันเยอะเลยค่ะ  นอกจากจะช่วยลดพฤติกรรมที่ไม่ดีแล้ว  ยังสามารถช่วยลดความเครียด และช่วยสร้างนิสัยดีๆ ให้กับน้องหมาของเราได้อีกทางด้วย  


ช่วงไหนเหมาะสมที่สุดสำหรับการเข้าสังคม




        ไม่ว่าการเริ่มต้นจะทำอะไรก็ตาม ช่วงที่เหมาะสมที่สุด ก็ควรจะเริ่มตั้งแต่อายุยังน้อย  เข้าอีหรอบเดียวกับสุภาษิตไทยประมาณว่าไม้อ่อนได้ง่าย ไม้แก่ดัดยากอย่างนั้นเลยค่ะ โดยช่วงเวลาที่เหมาะสมสำหรับการเริ่มเข้าสังคมนั้นควรอยู่ที่อายุตั้งแต่ 7 สัปดาห์ขึ้นไป โดยปกติ พบว่าช่วงเวลาแห่งการเรียนรู้ คือ ช่วงอายุ 6 เดือนแรก  แต่ช่วงที่สำคัญที่สุด จะอยู่ที่ประมาณ 7 สัปดาห์ถึงประมาณ 4 เดือน ดังนั้น ช่วงนี้เป็นช่วงที่เหมาะที่จะให้น้องหมาได้พบเจอคนแปลกหน้า หรือเหล่าน้องหมาด้วยกัน เพื่อสร้างความคุ้นเคยและลดการหวาดระแวงต่อคนแปลกหน้า และสัตว์ตัวอื่นๆ ได้ค่ะ นอกจากนั้น ยังพบอีกว่าหากช่วงอายุช่วงนี้น้องหมามีพฤติกรรมที่ทำอะไรแล้ว จะจดจำพฤติกรรมนั้นได้ดี  จึงเป็นช่วงสำคัญที่ควรจะดูแล และสอนเค้าอย่างใกล้ชิด ปกติแล้วช่วงเด็กๆ พฤติกรรมอาจจะเปลี่ยนแปลงได้วันต่อวัน ตัวเจ้าของเองควรจะมีการเลี้ยงดูอย่างเหมาะสม  ใกล้ชิด หมั่นสอนนิสัยหรือพฤติกรรมที่ถูกต้อง หรือหากเค้าทำพฤติกรรมอะไรที่ไม่เหมาะสมก็ควรรีบเข้าไปจัดการทันทีค่ะ การจัดการในทีนี้ คือ การทำอะไรก็ได้เพื่อหยุดพฤติกรรมนั้นๆ หรือการทำโทษเล็กๆ น้อยๆ อาจมีการใช้เสียงที่ดังขึ้น  เมินเฉยไม่สนใจ ไม่เล่นด้วย เป็นต้นค่ะ แต่ที่สำคัญและอย่าลืมโดยเด็ดขาดเลย คือ หากเป็นการทำโทษหลังจากที่ทำพฤติกรรมบางอย่างที่ไม่ดีนั้น เจ้าของควรจะทำโดยทันที  น้องหมาจะได้รู้ว่าพฤติกรรมที่ทำอยู่ตอนนั้นไม่ควรทำ  เพราะถ้าหากตัวเจ้าของเองไม่ทำโทษในทันที แต่มาทำภายหลัง น้องหมาจะไม่รู้ และอาจจะสับสนหรือเข้าใจผิดได้ว่าพฤติกรรมที่เจ้าของไม่พึงพอใจนั้น คืออะไร และเข้าใจว่าสิ่งที่กำลังทำอยู่ ณ เวลาที่ลงโทษขณะนั้น คือสิ่งที่ผิดแทนได้ค่ะ และนอกจากนั้น ช่วงอายุช่วงนี้ยังเป็นช่วงที่เหมาะสำหรับการเริ่มฝึกสอนคำสั่งง่ายๆ ได้ดีทีเดียว เช่น การนั่ง การเดิน การสั่งให้หยุดทำอะไร หรือ การฝึกการปัสสาวะหรืออุจจาระให้เป็นที่เป็นทางค่ะ

        แต่การเข้าสังคมของน้องหมาก็ไม่ได้จบที่อายุ 6 เดือนแรกเท่านั้นเสมอไปนะคะ ช่วงอายุถัดมาหรือเรียกว่าเป็นช่วงวัยรุ่นของน้องหมา คือ อายุที่ประมาณ 6 เดือน – 3 ปี (ขึ้นตามสายพันธุ์ น้องหมาพันธุ์ใหญ่อาจจะมีช่วงวัยรุ่นที่ช้ากว่าน้องหมาพันธุ์เล็กหน่อยค่ะ) เพราะช่วงนี้อาจมีในเรื่องของฮอร์โมนภายในร่างกายที่เปลี่ยนแปลงไป อาจมีผลต่อพฤติกรรมที่รุนแรงมากขึ้นได้ ฉะนั้น ช่วงนี้ก็อาจจะไม่ควรปล่อยปละละเลยน้องหมาของเรา  ควรจะลองสังเกตพฤติกรรมเค้าอยู่ห่างๆ หากเห็นพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมก็ให้รีบจัดการทันทีเหมือนกันค่ะ ส่วนในน้องหมาที่โตเต็มวัยแล้ว การเรียนรู้ที่จะเข้าสังคม หรือการสื่อสารกับคนรอบข้าง ถ้าเพิ่งเริ่มต้น อาจจะช้าไปสักหน่อยสำหรับการฝึกฝนน้องหมาในช่วงนี้ อาจจะต้องใช้ความอดทนและเวลามากเป็นพิเศษ และอาจต้องยอมรับความเสี่ยงที่อาจจะเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมนั้นๆ ได้ยากสักหน่อยค่ะ แต่ก็ควรลองค่อยๆ ทำและมีความอดทน รวมถึงความสม่ำเสมอ รับรองว่าไม่ยากเกินไปแน่นอนค่ะ 


วิธีการสร้างสังคมให้น้องหมา

        ก่อนถึงช่วงสำคัญของการเข้าสังคมกับคนอื่นๆ เราควรจะให้น้องหมาเรียนรู้พฤติกรรมกับแม่หมาของเค้าเองเสียก่อน  เพื่อเรียนรู้กฎระเบียบของเค้าเอง หรือสังคมโดยธรรมชาติ จึงเป็นการดีสำหรับช่วงเวลาหลังคลอดจนถึงอายุประมาณ 8 สัปดาห์ ที่เหล่าน้องหมาในคอกจะได้เรียนรู้พฤติกรรมต่างๆ และกติกาทางสังคมตามธรรมชาติจากแม่หมา จากการอยู่รวมกันนั่นเองค่ะ  ดังนั้น ไม่ควรที่จะแยกแม่กับลูกๆ เร็วจนเกินไป 

ต่อไปจะเป็นกิจกรรมที่จะสามารถสร้างความคุ้นเคยหรือการพาเค้าเข้าสังคม เพื่อใช้ชีวิตรวมกับน้องหมาตัวอื่นๆ และเราได้อย่างมีความสุขค่ะ

  • ให้น้องหมาเรารู้จักหรือคุ้นเคยกับสิ่งรอบๆ ตัว อย่างแรกที่ควรจะเริ่ม คือการให้น้องหมาได้รู้จักกับสมาชิกในครอบครัว ญาติ เพื่อนฝูง หรือแม้แต่เพื่อนบ้าน อาจฝึกให้คุ้นเคยกับคนใกล้ๆ ตัวก่อน เพื่อเป็นการเรียนรู้เบื้องต้น และดูท่าทีการแสดงออกของน้องหมา เวลาออกไปพบเจอคนอื่นภายนอก จะได้ไม่เป็นการตื่นกลัวจนเกินไปค่ะ  สำหรับการเริ่มฝึกการความคุ้นชินกับคนหลายๆ ประเภท อาจจะไม่ใช่วิธีที่รุกจนเกินไป ค่อยๆ ให้น้องหมาได้เรียนรู้เอง ให้เค้าเป็นคนค่อยๆ เข้ามา ค่อยๆ ดมมือ เพื่อเป็นการให้เค้าไม่ตกใจหรือคิดว่าคนนั้นๆ มาสร้างความอันตรายต่อตัวเค้ามากเกินไปค่ะ 



  • ให้น้องหมาได้เรียนรู้กับสิ่งแวดล้อมหลายๆ แบบ การพาออกไปเดินเล่นในที่ต่างๆ ย่อมเป็นสิ่งที่ดี แต่ก่อนพาออกไปเจ้าของทุกคนควรรับผิดชอบต่อน้องหมาของตัวเองด้วยนะคะ ควรมีสายจูงเพื่อป้องกันเค้าหลุดไปทำอันตรายต่อคนอื่น การเก็บสิ่งขับถ่ายในที่สาธารณะของเค้าทิ้งให้ถูกต้อง  รวมถึงอย่าลืมป้องกันในเรื่องของเห็บและหมัดที่อาจติดกลับมาได้จากการออกไปสัมผัสสิ่งแวดล้อมนอกบ้าน หรือพบเจอกับสัตว์เลี้ยงอื่นๆ ได้ค่ะ   หากมีเวลานอกเหนือจากการพาไปเดินเล่นใกล้ๆ บริเวณบ้านแล้ว อาจพาน้องหมานั่งรถเล่น พาไปชมวิว ให้คุ้นเคยกับสิ่งรอบตัวตั้งแต่ยังเด็กค่ะ  เพราะเราไม่อาจทราบได้เลยว่าในอนาคตน้องหมาของเราจะต้องเจอกับสิ่งแวดล้อมแบบไหนบ้างค่ะ จึงเป็นการดีที่จะสร้างประสบการณ์ดีๆ ตั้งแต่ยังเล็กๆ นะคะ



  • การพาน้องหมาไปออกกำลังกาย หรือสนามวิ่งเล่นสำหรับน้องหมา ข้อนี้จะดีในเรื่องของการได้เจอน้องหมาตัวอื่นๆ และเป็นการปลดปล่อยพลังงานของตัวน้องหมาเองไปในตัวค่ะ เพื่ออารมณ์ที่มั่นคงของเค้าเอง นอกจากนี้ การได้เจอน้องหมาตัวอื่นๆ ยังเป็นการเรียนรู้ลำดับทางสังคมโดยธรรมชาติ การจะสร้างสังคมที่ดี เจ้าของต้องเลือกสังคมที่ดีที่เหมาะสมสำหรับน้องหมาด้วยนะคะ เพื่อเค้าจะได้มีประสบการณ์ทีดีและซึมซับพฤติกรรมที่ดีจากเหล่าน้องหมาที่เค้าพบเจอไปค่ะ เวลาไปเจอน้องหมาตัวอื่นจะได้ไม่ตื่นกลัวได้ง่ายค่ะ



  • การหัดให้น้องหมาคุ้นเคยกับเสียงต่างๆ ก็เป็นหนึ่งสิ่งที่ควรจะหัดให้น้องหมาไม่ตื่นกลัวได้ง่ายค่ะ โดยการเริ่มต้นที่ดีอาจจะเริ่มจากการให้ฟังเสียงที่ไม่ดังมากเกินไปก่อน หากน้องหมาดูตกใจหรือหวาดกลัวก็ให้เริ่มด้วยเสียงที่ระดับต่ำกว่านั้น แล้วค่อยๆ เพิ่มจนน้องหมาไม่แสดงอาการที่ดูตื่นกลัว นอกจากเสียงที่มีระดับความดังที่ต่างกันแล้ว ประเภทของเสียงของสำคัญ ให้น้องหมาของเราคุ้นชินกับเสียงของสิ่งต่างๆรอบตัว ก็ช่วยในเรื่องการออกไปไหนมาไหนของน้องหมาได้อย่างสบายใจไม่ตื่นตระหนกต่อสิ่งรอบข้างค่ะ
  • พาน้องหมาเข้าโรงเรียนฝึก อันนี้ก็เป็นอีกหนทางหนึ่งที่จะช่วยในเรื่องของสังคมของน้องหมาได้อีกทางหนึ่ง เพราะเจอทั้งเพื่อนน้องหมาด้วยกันเอง และครูฝึก  รวมถึงเจ้าของคนอื่นๆ แถมผลพลอยได้ในเรื่องความมีระเบียบวินัยจากคำสั่งง่ายๆ ที่ได้รับการฝึกฝนมาอีกด้วยค่ะ 



  • หลีกเลี่ยงการทำให้น้องหมาเครียด อันนี้เป็นข้อพึงระวังที่สำคัญมาก เนื่องจากเจ้าของบางคนอาจจะเร่งเกินไปสำหรับการพาน้องหมาไปนู้นไปนี้ให้คุ้นชินกับคนหรือสถานที่ต่างๆ แบบเร่งรัดมากเกินไป จนทำให้น้องหมาของเราเกิดอาการเครียดขึ้นแทน อันนี้ก็ต้องหมั่นสังเกตน้องหมาของเราด้วยนะคะ เนื่องจากพื้นฐานของน้องหมาแต่ละตัวอาจไม่เท่ากัน ความมีสังคมในตัวเค้าก็แตกต่างกันตามไปด้วย ตัวที่ไม่ค่อยชอบเข้าสังคมอาจจะต้องใช้เวลาและกระบวนการในการพาเข้าสังคมนานหน่อย แต่ไม่ยากเกินไปสำหรับเจ้าของทุกท่านแน่นอนค่ะ  หากค่อยๆ เริ่มพาเหล่าน้องหมาเราหัดเข้าสังคมออกสู่โลกกว้างวันละเล็กละน้อย รับรองว่าน้องหมาของเราจะสามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุขร่วมกับคน และน้องหมาตัวอื่นได้อย่างแน่นอนค่ะ

Written by Webmaster
Published on 1 February 2016
สพ.ญ.นนท์นฤน เกิดสุข
สพ.ญ.นนท์นฤน เกิดสุข
อายุรกรรมทั่วไป
ผู้สนับสนุนบทความ
• ด้านล่างเป็นเพียงส่วนของการคอมเม้นบทความเท่านั้น หากท่านต้องการสอบถามปัญหาสุขภาพสัตว์เลี้ยง กรุณาเข้าไปที่ http://www.facebook.com/odaijinipet และส่งข้อความเข้าสอบถามใน Inbox ท่านจะได้การตอบกลับโดยเร็วที่สุด และหากเป็นเรื่องเร่งด่วนอยากได้คำตอบโดยเร็วโทรสอบถามได้ที่ 02-9485099 ขอบคุณค่ะ :)