รพ.สัตว์โอะไดจินิ | เปิด 24 ชั่วโมง

มะเร็งเม็ดเลือดขาว (ลิวคีเมีย) ศัตรูตัวร้ายของน้องเหมียว


        มะเร็งเม็ดเลือดขาว หรือ โรคลิวคีเมียในแมว (Feline Leukemia Virus : FeLV) เป็นโรคติดต่อในแมวซึ่งเกิดจากเชื้อไวรัส  ทำให้แมวเกิดอาการป่วยได้หลากหลาย โดยหลักๆ จะทำให้ภูมิคุ้มกันของร่างกายบกพร่อง  เกิดภาวะโลหิตจาง  หรือเกิดเนื้องอกขึ้นได้  ลิวคีเมียเป็นโรคติดต่อที่เกิดเฉพาะในแมวไม่ติดต่อสู่คน  และสามารถกำจัดเชื้อในสิ่งแวดล้อมที่ปนเปื้อนได้ง่าย โดยใช่น้ำยาฆ่าเชื้อ

แมวของเราติดเชื้อได้อย่างไร

        เชื้อไวรัสพบได้ในน้ำลายของแมวที่ติดเชื้อ เมื่อมีการสัมผัสน้ำลาย  จากการเลียกัน หรือ กัดกัน  จะทำให้เกิดการแพร่เชื้อไปยังอีกตัวได้ โดยกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ แมวที่เลี้ยงรวมกันเป็นจำนวนมาก และแมวที่เลี้ยงปล่อยนอกบ้าน นอกจากนั้นยังพบว่าเชื้อไวรัสสามารถติดต่อจากแม่แมวไปยังลูกในท้องโดยผ่านทางรกได้


Picture1 : น้องแพนด้า เป็นลิวคีเมีย และมีปัญหาไส้เลื่อนที่สะดือ ได้รับการผ่าตัดแก้ไขแล้ว

อาการที่น่าสงสัย

อาการที่พบแบ่งเป็น 3 กลุ่มหลักๆ

    1. เกิดภาวะกดการทำงานของภูมิคุ้มกัน ทำให้แมวป่วยง่าย ไวต่อการติดเชื้อต่างๆ แทรกซ้อน ซึ่งถ้าแมวของเรามีอาการป่วย และหายยาก มีไข้โดยไม่ทราบสาเหตุ  แม่แมวแท้ง  หรือผสมไม่ติด ให้ลองตรวจเช็คไวรัสในแมวทั้งมะเร็งเม็ดเลือดขาว (FeLV) และเอดส์แมว (FIV) ด้วย
    2. ทำให้เกิดเนื้องอกหรือมะเร็ง พบได้ทั้งในช่องอก ทำให้แมวหายใจลำบาก มีอาการเกี่ยวกับทางเดินหายใจ หรือในทางเดินอาหาร เกิดอาการท้องเสีย น้ำหนักลด หรือเกิดที่ต่อมน้ำเหลืองต่างๆทั่วร่างกาย
    3. เกิดภาวะโลหิตจาง

การตรวจหาเชื้อไวรัส

        หลังติดเชื้อประมาณ  3-6 สัปดาห์เชื้อไวรัสที่เพิ่มจำนวนขึ้น จะเข้าสู่กระแสเลือด ซึ่งเป็นช่วงที่คุณหมอสามารถใช้ชุดตรวจในการวินิจฉัยโรคได้  แต่หลังจากนั้นจะเกิดการติดเชื้อที่ไขกระดูก ทำให้ไม่สามารถตรวจพบเชื้อได้จากการใช้ชุดตรวจ จำเป็นต้องใช้วิธีอื่น เช่น การตรวจหาเชื้อจากน้ำไขสันหลังแทน

การรักษา

        การรักษาขึ้นอยู่กับอาการของแมวแต่ละตัว เป็นการรักษาตามอาการ  เช่น  แมวที่มีปัญหาเป็นหวัดเรื้อรัง จากภูมิคุ้มกันบกพร่อง จำเป็นต้องรักษาอาการหวัด และให้ยาปฏิชีวนะคุมการติดเชื้ออย่างต่อเนื่อง   ในรายที่เป็นเนื้องอกหรือมะเร็งก็จำเป็นต้องได้รับยาต้านมะเร็ง เป็นต้น


Picture2 : น้องแพนด้า ป่วยด้วยโรคลิวคีเมีย แต่ยังไม่แสดงอาการป่วย

การทำวัคซีนในแมวที่ไม่ติดเชื้อ

        ถึงแม้จะมีวัคซีนป้องกัน แต่ก็เป็นเพียงวัคซีนทางเลือก ป้องกันโรคไม่ได้ 100%     ดังนั้น เมื่อทำวัคซีนแล้ว ก็ควรหลีกเลี่ยงแมวที่มีการติดเชื้อ หรือแมวที่ไม่ทราบประวัติการทำวัคซีนอยู่ดี    อีกทั้งก่อนทำวัคซีนควรจะต้องมีการตรวจหาเชื้อไวรัสก่อน  เนื่องจากการทำวัคซีนจะไม่มีประโยชน์ในแมวที่มีการติดเชื้ออยู่แล้ว  วัคซีนสามารถทำได้ในแมวที่มีอายุตั้งแต่ 2 เดือนขึ้นไป โดยทำ 2 เข็มห่างกัน 1 เดือน และหลังจากนั้นกระตุ้นเป็นประจำทุกปีนะคะ


Written by Webmaster
Published on 25 April 2013
สพ.ญ.รัชวรรณ  สว่างแวว
สพ.ญ.รัชวรรณ สว่างแวว
อายุรกรรมทั่วไป
ผู้สนับสนุนบทความ
• ด้านล่างเป็นเพียงส่วนของการคอมเม้นบทความเท่านั้น หากท่านต้องการสอบถามปัญหาสุขภาพสัตว์เลี้ยง กรุณาเข้าไปที่ http://www.facebook.com/odaijinipet และส่งข้อความเข้าสอบถามใน Inbox ท่านจะได้การตอบกลับโดยเร็วที่สุด และหากเป็นเรื่องเร่งด่วนอยากได้คำตอบโดยเร็วโทรสอบถามได้ที่ 02-9485099 ขอบคุณค่ะ :)