รพ.สัตว์โอะไดจินิ | เปิด 24 ชั่วโมง

10 คำถามยอดฮิตเกี่ยวกับการตั้งท้องในสุนัข (ตอนที่ 9 : จะรู้ได้อย่างไรว่าสุนัขจะคลอดยากหรือไม่)


10 คำถามยอดฮิตเกี่ยวกับการตั้งท้องในสุนัข

  1. ถ้าอยากให้สุนัขตั้งท้องควรเตรียมตัวแม่สุนัขอย่างไร
  2. สุนัขตั้งท้องนานกี่วัน
  3. ตั้งท้องแล้วจะต้องให้อาหารอะไร
  4. สุนัขตั้งท้องอาบน้ำ และออกกำลังกายได้มั๊ย
  5. สุนัขตั้งท้องสามารถฉีดวัคซีน ถ่ายพยาธิ ป้องกันพยาธิหัวใจได้มั๊ย
  6. จะรู้ได้ยังไงว่าสุนัขท้อง
  7. จะรู้ได้อย่างไรว่ามีลูกกี่ตัว
  8. จะรู้ได้อย่างไรว่าถึงกำหนดคลอดเมื่อไหร่
  9. จะรู้ได้อย่างไรว่าสุนัขจะคลอดยากหรือไม่
  10. เมื่อไหร่ควรจะพาเค้ามาให้คุณหมอช่วยคลอด

        เมื่อแม่สุนัขเข้าสู่ช่วงท้ายของการตั้งท้องแล้วล่ะก็ สำหรับคุณเจ้าของแล้ว คงอดกังวลไม่ได้ว่าแม่สุนัขจะคลอดเองได้หรือไม่  จึงเป็นที่มาของคำถามฮิตคำถามนี้ว่า “จะรู้ได้อย่างไรว่าสุนัขจะคลอดยากหรือไม่” วันนี้หมอจะมาเล่ารายละเอียดในส่วนนี้ให้ฟังครับ

ก่อนอื่น ต้องรู้ก่อนครับว่า คลอดยาก เกิดได้จากหลายสาเหตุครับ ดังนี้

สาเหตุจากลูก

  • สายพันธุ์ปกติ ท่าการคลอด ลูกสุนัขที่ดีที่สุด คือ เหมือนลูกพุ่งกระโจนออกมาจากช่องคลอดแม่ (ให้นึกภาพคนกระโดดลงน้ำครับ ใช่เลยท่านี้) ดังนั้น การคลอดที่ลูกสุนัขอยู่ในท่าที่ผิดไป เช่น เอาก้นออกก่อน หรือ นอนหงายออก ก็เป็นสาเหตุของการคลอดยากได้ครับ   แต่ทั้งนี้ ลูกสุนัขที่เอาหัวออกก็สามารถคลอดยากได้ จากท่าทางเช่น แขนขา ไม่ได้อยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสม เป็นต้นครับ
  • ลูกสุนัขที่ เสียชีวิตในท้อง จากที่กระบวนการคลอดปกติลูกสุนัขจะเป็นตัวกระตุ้นหลัก ทั้งส่งสารเคมีสำคัญไปบอกแม่ให้คลอดได้แล้ว หรือจากการเคลื่อนไหวของลูกในช่องเชิงกราน จะเป็นตัวกระตุ้นอย่างดีให้แม่สุนัขเบ่งคลอดออกมาได้ การที่ลูกเสียชิวิตจึงขาดตัวกระตุ้นการคลอดไปนั่นเอง

สาเหตุจากแม่

  • มดลูกบีบตัวได้ไม่ดี อาจจากปัญหาสุขภาพได้   หรือการได้รับสารอาหารที่ไม่สมบูรณ์ครบถ้วน ก็เป็นเหตุสำคัญของปัญหานี้ได้ครับ
  • มี การอักเสบ ติดเชื้อในมดลูก พบได้ในช่วงท้ายของการตั้งท้อง ที่ปากมดลูกมักจะเปิด ทำให้อาจมีการติดเชื้อย้อนกลับเข้าไปในมดลูกได้นั่นเอง
  • จาก ช่องเชิงกรานมีขนาดเล็ก  เป็นเป็นได้ตั้งแต่เกิด ที่อาจเกิดจากลักษณะเฉพาะตัว  เชิงกรานที่เจริญไม่เต็มที่ หรือเกิดตามมาภายหลังจากอุบัติเหตุ เช่น เคยมีเชิงกรานหัก ทำให้ช่องเชิงกรานแคบลงได้ครับ
  • ความ ผิดปกติของปากมดลูก หรือช่องคลอด เช่น อาจพบว่ามีการตีบแคบ จากการผิดรูปร่าง หรือมีเนื้องอกขวางทางอยู่ เป็นต้น
  • สารหล่อลื่นออกมาในปริมาณน้อยไป ไม่เพียงพอ ทำให้ลูกเคลื่อนตัวผ่านช่องเชิงกรานได้ยากขึ้น
  • มดลูกบิด บดลูกแตก การยึดติดของมดลูกกับอวัยวะอื่ เป็นต้น

Picture1 : ภาพชิวาวาที่มีปัญหาคลอดยาก

        ปัจจัยโน้มนำที่ทำให้คลอดยาก ได้แก่  อายุแม่สุนัข, สุนัขพันธุ์หน้าสั้นทั้งหลาย, โรคอ้วน, การย้ายที่ทางก่อนคลอด, เคยมีประวัติการคลอดยากมาก่อน เป็นต้น หากสุนัขของคุณเจ้าของตกอยู่ในหัวข้อนี้ คงต้องเฝ้าระวังมากเป็นพิเศษนะครับ

ทีนี้ เราจะรู้ได้อย่างไรว่าสุนัขจะคลอดยากรึเปล่า       

        จากที่หมอนเล่าให้ฟังช่วงต้น จะเห็นได้ว่า มีสาเหตุมากมายเลยที่ทำให้สุนัขคลอดยาก ต้องบอกว่า สิ่งที่คุณเจ้าของสามารถทำได้ ก็คือ พามาตรวจสุขภาพเป็นระยะ เช่นเดียวกับการฝากครรภ์ในคนนั่นเอง  

        การมาตรวจสุขภาพ คุณหมอจะมีการซักประวัติต่างๆ ตรวจสุขภาพทั่วไป  ตรวจเลือด  และหากแม่สุนัขแข็งแรงปกติดี คุณเจ้าของก็สบายใจไปได้บางส่วน จากส่วนนึงของสาเหตุการคลอดยากมาจากปัญหาสุขภาพนั่นเอง  

        ทีนี้ การตรวจอื่นๆ ที่คุณหมอจะแนะนำให้ทำเพิ่มเติมก็คือ ที่ช่วงท้ายๆ ของการตั้งท้องหรือก่อนคลอด การ X-ray เป็นเครื่องมือสำคัญส่วนหนึ่งที่ช่วยบอกได้ ถึงขนาดตัวลูก เมื่อเทียบกับเชิงกราน  ความผิดปกติของเชิงกรานมีมั๊ย?  แต่หากมาทำช่วงใกล้คลอด จะทราบว่าลูกอยู่ในท่าทางอย่างไร? ขวางมั๊ย? เคลื่อนมาอยู่ในตำแหน่งเหมาะสมหรือไม่? เป็นต้น    หากคุณเจ้าของเป็นผู้นึง ที่มักจะมาว่าที่คุณแม่ ไปตรวจสุขภาพเป็นประจำ อาจเคยมีคำถามว่าจะมีลูกกี่ตัวกันน้า... และได้พาไป X-ray เช็คจำนวนลูกกับคุณหมอไปแล้ว หากถามว่าการ X-ray ครั้งนั้นบอกอะไรได้มั๊ย? หมอตอบว่า ดูได้บ้างครับ ขึ้นอยู่กับช่วงถ่ายนั้น อยู่ในระยะของการตั้งท้องนั่นเอง  เนื่องจาก X-ray สามารถเห็นโครงกระดูกลูกได้ตั้งแต่อายุการตั้งท้องตั้งแต่ 45 วันขึ้นไป แต่แม่สุนัขตั้งท้องนาน 58-62 วันโดยเฉลี่ย ดังนั้น หากมาถ่าย X-ray ในช่วงวันที่ 45 และพบว่า ลูกอาจมีขนาดตัวที่เล็กอยู่ ดูแล้วเหมือนจะคลอดได้ แต่อีก 2 สัปดาห์ผ่านไป ลูกอาจมีขนาดใหญ่ขึ้นมาก ทำให้การ X-ray ครั้งก่อนอาจยังสรุปอะไรไม่ได้ แต่หากพบว่าลูกมีขนาดใหญ่กว่าเชิงกรานตั้งแต่ตอนนี้แล้วล่ะก็ ก็พอจะบอกได้เลยครับว่ามีโอกาสคลอดยากนั่นเอง...


Picture2 : ภาพ A แสดงเชิงกรานหักผิดรูปอาจทำให้คลอดยากได้ ภาพ B เป็นเชิงกรานที่ได้รับการผ่าตัดแก้ไข

        สรุปก็คือ หากมาตรวจก่อนวันเวลาคลอดแล้ว บอกไม่ได้แน่ชัดนั่นเองครับ  รู้เพียงแนวโน้มเท่านั้น  เว้นแต่จะพบว่า เชิงกรานผิดปกติ ลูกตัวใหญ่มากทั้งที่ยังไม่ถึงวันคลอด เป็นต้น ส่วนใหญ่การคลอดยาก จะรู้ได้ในระหว่างกระบวนการคลอดซะมากกว่าครับ จากประสบการณ์ของหมอเองแล้ว การมาตรวจก่อนวันเวลาคลอด สัตว์ที่ดูเหมือนจะคลอดยาก ในหลายๆ กรณี ก็คลอดเองได้นะครับ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสาเหตุของการคลอดยากนั่นเอง ดังนั้น การตัดสินใจของเจ้าของในการเลือกที่จะทำอย่างไรกับแม่สุนัขจึงเป็นส่วนสำคัญต่อการจัดการต่อไปครับ

        คำแนะนำของหมอ ก็คือ ให้หมั่นพาแม่สุนัขมาตรวจสุขภาพเป็นระยะ โดยส่วนตัวหมอแนะนำให้ตรวจสุขภาพในช่วงหลังจาก 45 วันของการตั้งท้องไปแล้ว ซึ่งหมอจะพิจารณาจากประวัติต่างๆ ว่าสัตว์ตัวนี้ มีปัจจัยโน้มนำของการคลอดยากมั๊ย ตรวจสุขภาพ ตรวจเลือด ว่ามีปัญหาสุขภาพ การติดเชื้อหรือไม่   การถ่าย X-ray ว่ามีปัญหาของเชิงกราน ขนาดตัวลูกมั๊ยให้ทำช่วงใกล้คลอดน่าจะดีกว่าครับ ที่เหลือคงต้องเฝ้าระวัง และพาแม่สุนัขมาพบคุณหมอในช่วงเวลาที่เหมาะสมน่าจะดีกับแม่ และลูกสุนัขที่สุดครับ  

        สำหรับช่วงเวลาที่เหมาะสมในการพามาหาคุณหมอ จะอยู่ในคำถามสุดท้ายในหัวข้อ “เมื่อไหร่ควรจะพามาทำให้คุณหมอช่วยคลอด” ติดตามอ่านต่อได้นะครับ ^^


รูปจาก : cal.vet.upenn.edu, bekindtopets.com


Written by Webmaster
Published on 20 November 2012
น.สพ.คณิน  ตันติสุวัฒน์
น.สพ.คณิน ตันติสุวัฒน์
อายุรกรรมทั่วไป
ผู้สนับสนุนบทความ
• ด้านล่างเป็นเพียงส่วนของการคอมเม้นบทความเท่านั้น หากท่านต้องการสอบถามปัญหาสุขภาพสัตว์เลี้ยง กรุณาเข้าไปที่ http://www.facebook.com/odaijinipet และส่งข้อความเข้าสอบถามใน Inbox ท่านจะได้การตอบกลับโดยเร็วที่สุด และหากเป็นเรื่องเร่งด่วนอยากได้คำตอบโดยเร็วโทรสอบถามได้ที่ 02-9485099 ขอบคุณค่ะ :)