รพ.สัตว์โอะไดจินิ | เปิด 24 ชั่วโมง

ทำอย่างไร เมื่อมีของขวัญดิ้นได้ อยู่หน้าประตูบ้าน


        ในช่วงทำงานของหมอ มีหลายครั้งนะคะ ที่เจ้าของพบลูกสุนัขหรือลูกแมวปริศนามาร้องโวยวายอยู่หน้าบ้าน ด้วยความเป็นคนไทยใจดีอย่างเรา ๆ คงไม่สามารถนิ่งเฉยดูดายได้ ต้องรีบเก็บมาดูแลเลี้ยงดู ประคบประหงมเหมือนเป็นสัตว์เลี้ยงของตนเอง แต่ทีนี้ เราไม่ใช่พ่อแม่ของเด็กๆ เหล่านั้น เราจะเลี้ยงดูเค้าได้อย่างไร วันนี้หมอมีวิธีง่ายๆ ในการเลี้ยงดูน้องๆ เหล่านี้มาฝากกันค่ะ ^^


  1. เรื่องของการให้อาหาร ลูกสุนัขและแมวที่ยังตัวเล็กมาก ก่อนอื่นเลยลองเปิดปากดูฟันของเค้าก่อนค่ะ ถ้าเห็นฟันเขี้ยว ฟันกราม (ฟันน้ำนม) ขึ้นเต็มในช่องปาก แสดงว่าอายุครบ 2 เดือนแล้ว  อาหารที่ให้อาจเริ่มให้เป็นอาหารสำเร็จรูปได้เลย พวกอาหารเม็ดหรืออาหารกระป๋อง แต่ถ้าเป็นอาหารเม็ด อาจต้องแช่น้ำให้นิ่มสักหน่อยนะคะ เพราะฟันเด็ก ๆ ยังซี่เล็กอยู่ อาจจะเคี้ยวอาหารเม็ดแข็งไม่ได้ แต่ถ้าเปิดปากดูแล้ว เห็นแต่เหงือก แสดงว่ายังเป็นเด็กอ่อน เจ้าของต้องจัดหานมมาให้น้อง ๆ แล้วล่ะค่ะ ซึ่งสมัยนี้มีนมสำเร็จรูปวางจำหน่ายทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นนมสุนัขหรือนมแมว มีทั้งแบบนมผงให้ชงเอง และแบบที่ชงสำเร็จเป็นกระป๋อง หรือจะให้เป็นนมแพะก็ได้ ที่สำคัญเลย คือ ห้ามให้นมวัวเด็ดขาด เพราะจะทำให้เกิดอาการแพ้  และท้องเสียรุนแรง อาจมากจนถึงขั้นเสียชีวิตได้ค่ะ ซึ่งการให้นม อาจจะต้องดูแลใกล้ชิด  และให้บ่อยซักหน่อย ทุก 2-3 ชั่วโมง เหมือนกับเรามีลูกอ่อนอีกคนนึงเลยค่ะ(เวลาป้อน ให้นอนคว่ำเหมือนท่ากินนมตามธรรมชาติ  ป้อนช้า ๆ หน่อยนะคะ ระวังน้องสำลักด้วย)

    Picture1 : การป้อนนมลูกสุนัข


    Picture2 : การป้อนนมควรจะให้อยู่ในท่านี้ค่ะ และไม่ควรให้นมไหลแรงเกินไปนะคะ

  2. เรื่องการดูแลทั่วไป เนื่องจากเด็กน้อยเหล่านี้ ยังเติบโตไม่เต็มที่ ดังนั้นภูมิคุ้มกันต่างๆ ของร่างกายก็จะยังพัฒนาได้ไม่สมบูรณ์ เราควรต้องดูแลให้ความอบอุ่นกับเค้า อาจให้นอนซุกในผ้าอุ่น ๆ หรือเปิดไฟกกให้น้องก็ได้ค่ะ (แต่อย่าให้หลอดไฟอยู่ใกล้เกินไปนะคะ เดี๋ยวน้อง ๆ จะตัวร้อนเกินไป ไหม้กันพอดี) นอกจากนี้ เรื่องการขับถ่ายก็สำคัญนะคะ ซึ่งโดยปกติแล้ว เวลาลูกสุนัขหรือลูกแมว อยู่กับแม่ของตัวเอง หลังจากกินนมจากเต้าเสร็จ คุณแม่จะทำหน้าที่เลียกระตุ้นขับถ่ายให้ลูกน้อย ดังนั้น หนุ่มๆ หรือหญิงไทยใจงามอย่างเรา ๆ คงต้องทำหน้าที่เป็นคุณแม่จำเป็นแล้วล่ะค่ะ ไม่ใช่ให้เลียกระตุ้นนะคะ อันนั้นคงจะโหดร้ายไปหน่อย ^^   วิธีง่าย ๆ คือ ให้เจ้าของใช้สำลีชุบน้ำสะอาดอุ่นๆ  แตะเบาๆ  บริเวณอวัยวะเพศ และทวารของเด็กน้อย (เน้นความนุ่มนวลเพื่อไม่ให้เกิดความระคายเคืองนะคะ) แค่นั้นเอง น้องก็จะสามารถขับถ่ายได้แล้วค่ะ แนะนำให้เตรียมผ้าหรือกระดาษทิชชูไว้เยอะหน่อย เพราะขั้นตอนนี้ค่อนข้างเลอะเทอะทีเดียวแหละค่ะ ;)

    Picture3 : ภาพแม่สุนัขเลียกระตุ้นการขับถ่าย
  3. เรื่องของการถ่ายพยาธิและทำวัคซีน โดยปกติแล้วจะแนะนำให้เริ่มทำวัคซีนเข็มแรก (วัคซีนรวม 5 โรค) ตอนอายุครบ 2 เดือนพร้อมกับถ่ายพยาธิไปพร้อมๆ กันค่ะ ซึ่งในช่วงแรกของการทำวัคซีนนั้น อาจต้องมีการนัดพบกับคุณหมอบ่อยหน่อย เพราะภูมิคุ้มกันจากแม่น้องๆ จะเริ่มต่ำลง จนไม่สามารถป้องกันโรคได้ จึงต้องนัดทำวัคซีนทุกๆ 2 สัปดาห์ เพื่อเสริมสร้างภูมิก่อนค่ะ อาจจะเบื่อหน้าหมอกันเลยทีเดียว ส่วนการถ่ายพยาธิก็มักจะทำไปพร้อม ๆ กับวัคซีนเลย เมื่อทำวัคซีนครบหมดแล้ว ก็จะเว้นการถ่ายพยาธิไป เป็นทุก 3-6 เดือนค่ะ


Picture4 : ภาพการทำวัคซีนในลูกสุนัข

  1. เรื่องการป้องกันเห็บหมัด และพยาธิหนอนหัวใจ  สำหรับการป้องกันเห็บหมัดสามารถเริ่มทำได้ตั้งแต่อายุ 2 เดือนเช่นกันค่ะ (ทั้งนี้ ขึ้นกับผลิตภัณฑ์ที่เลือกใช้ ลองอ่านฉลากก่อนนะคะ) เจ้าของบางท่านอาจคิดว่าเลี้ยงน้องอยู่แต่ในบ้าน คงไม่พบอยู่แล้ว นั่นเป็นความคิดที่ผิดนะคะ แค่เราพาเค้าไปเดินเล่นที่สนามหญ้าหน้าบ้าน ก็สามารถติดเห็บได้แล้วนะ ส่วนพยาธิหนอนหัวใจสามารถเริ่มป้องกันได้ตั้งแต่อายุ 3 เดือนเป็นต้นไปค่ะ พยาธิหัวใจจะติดต่อกันโดยมียุงเป็นพาหะ เราคงไม่สามารถป้องกันยุง ไม่ให้กัดเค้าได้ตลอด 24 ชั่วโมงแน่นอนค่ะ เพราะฉะนั้น หมอแนะนำให้ป้องกันไว้ก่อนดีกว่า แค่เพียงเดือนละ 1 ครั้ง ทำได้หลายวิธี ไม่ว่าจะเป็นยาหยดหลัง ยากิน แล้วแต่เจ้าของชอบเลย แต่ละวิธีก็จะมีข้อดีข้อเสียแตกต่างกันไปค่ะ ซึ่งถ้าเราละเลย คิดว่าคงไม่เป็นไร พอน้องป่วยขึ้นมา ทีนี้เรื่องใหญ่เลยนะคะ เห็บหมัดนำโรคต่าง ๆ มากมาย เช่น พยาธิตัวตืด พยาธิในเม็ดเลือด ซึ่งต้องใช้เวลารักษากันนานเป็นเดือนเลยทีเดียว


Picture5 : ภาพวงจรชีวิตพยาธิหัวใจ

        เป็นอย่างไรกันบ้างคะ วันนี้คงได้วิธีการเลี้ยงเด็กกันไปอย่างจุใจเลย แต่อย่าลืมนะคะ ถ้าเราตัดสินใจจะเลี้ยงเค้าแล้ว ไม่ว่าเค้าจะโตขึ้นขนาดไหน ต้องรักและใส่ใจเค้าเหมือนกับวันแรกที่เราได้เค้ามา...  ถ้าเจ้าของท่านใดอยากทราบข้อมูลเพิ่มเติม โทรมาสอบถามกับทางโรงพยาบาลได้เลยนะคะ เราพร้อมให้คำปรึกษาตลอด 24 ชั่วโมงค่ะ ^^



รูปจาก : Bigwhitedogblue Blog, Dokterseo.com, Dog-obedience-training-review.com,  Vetwest.com.au


Written by Webmaster
Published on 19 November 2012
ทีมสัตวแพทย์ประจำ
โรงพยาบาลสัตว์โอะไดจินิ
ผู้สนับสนุนบทความ
• ด้านล่างเป็นเพียงส่วนของการคอมเม้นบทความเท่านั้น หากท่านต้องการสอบถามปัญหาสุขภาพสัตว์เลี้ยง กรุณาเข้าไปที่ http://www.facebook.com/odaijinipet และส่งข้อความเข้าสอบถามใน Inbox ท่านจะได้การตอบกลับโดยเร็วที่สุด และหากเป็นเรื่องเร่งด่วนอยากได้คำตอบโดยเร็วโทรสอบถามได้ที่ 02-9485099 ขอบคุณค่ะ :)