รพ.สัตว์โอะไดจินิ | เปิด 24 ชั่วโมง

10 คำถามยอดฮิตเกี่ยวกับการตั้งท้องในสุนัข (ตอนที่ 8 : จะรู้ได้อย่างไรว่าถึงกำหนดคลอดเมื่อไหร่)


10 คำถามยอดฮิตเกี่ยวกับการตั้งท้องในสุนัข

  1. ถ้าอยากให้สุนัขตั้งท้องควรเตรียมตัวแม่สุนัขอย่างไร
  2. สุนัขตั้งท้องนานกี่วัน
  3. ตั้งท้องแล้วจะต้องให้อาหารอะไร
  4. สุนัขตั้งท้องอาบน้ำ และออกกำลังกายได้มั๊ย
  5. สุนัขตั้งท้องสามารถฉีดวัคซีน ถ่ายพยาธิ ป้องกันพยาธิหัวใจได้มั๊ย
  6. จะรู้ได้ยังไงว่าสุนัขท้อง
  7. จะรู้ได้อย่างไรว่ามีลูกกี่ตัว
  8. จะรู้ได้อย่างไรว่าถึงกำหนดคลอดเมื่อไหร่
  9. จะรู้ได้อย่างไรว่าสุนัขจะคลอดยากหรือไม่
  10. เมื่อไหร่ควรจะพาเค้ามาให้คุณหมอช่วยคลอด

        ถัดมาเป็นคำถามง่ายๆ แต่ตอบยากอีกหนึ่งคำถาม นั่นก็คือ “จะรู้ได้อย่างไรว่าถึงกำหนดคลอดเมื่อไหร่” ที่หมอพูดแบบนี้ก็เพราะว่า ในสัตว์แล้ว คุณเจ้าของส่วนใหญ่ ไม่ได้นิยมพามาตรวจระหว่างตั้งท้องเป็นประจำเหมือนการฝากครรภ์ในคนที่จะมีนัดตรวจกับคุณหมออย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้งซึ่งคนท้อง 9 เดือน แต่สุนัขท้อง 2 เดือน ซึ่งถ้าเทียบเคียงแล้วในสัตว์ก็เสมือนตรวจทุกๆ 1 สัปดาห์นั่นเองซึ่งสำหรับในสุนัขแล้ว ไม่เป็นที่นิยมทำกันครับ  การพามาอัลตราซาวห์ เป็นระยะในคนนั้น ทำให้ทราบความเป็นมา เป็นไป ของตัวอ่อน ว่าอยู่ในระยะไหนแล้ว และประเมินคร่าวๆ ถึงกำหนดคลอดได้จากค่าเฉลี่ยของการตั้งครรภ์นั่นเอง  สำหรับในสุนัขแล้วก็เช่นกันครับ เจ้าของบางท่าน ตั้งแต่  ว่าที่คุณแม่ของเราตั้งท้องจนถึงก่อนจะคลอดไม่เคยพามาหาคุณหมอมาก่อนเลย การถามถึงกำหนดคลอดจึงตอบได้ยากมากนั่นเองครับ  แล้วทีนี้ หากอยากรู้กำหนดคลอดในแม่สุนัขแล้วก่อนอื่น จะต้องรู้ข้อมูลสำคัญหลายส่วน ดังนี้ครับ

  1. เป็นสัดเมื่อไหร่ ทำให้พอจะประมาณการช่วงเวลาตกไข่ได้บ้าง
  2. วันที่มีการผสม กี่วัน วันไหนบ้าง
  3. ต้องทราบว่า เฉลี่ยแล้วสุนัขมีอายุการ ตั้งท้องโดยเฉลี่ยประมาณ 58-62 วัน ซึ่งจะนับจากวันที่มีการปฏิสนธิจนถึงวันคลอดนั่นเอง
  4. ตัวอ่อนหลังจากปฏิสนธิ จะใช้ เวลาประมาณ 21 วัน ในการฝังตัวเข้ากับมดลูก เราจึงมีการอัลตราซาวน์เห็นได้ในช่วงนี้
  5. จะเริ่มมีการฟอร์มของกระดูกต่างๆ ของตัวอ่อนลูกสุนัขชัดเจนที่อายุท้อง 45 วันขึ้นไป เราจึง X-ray และพบเห็นได้

        จากที่กล่าวมาแล้วการจะประมาณการกำหนดคลอดนั้น จริงๆ แล้วก็คือ การประมาณการช่วงเวลาที่ลูกเจริญเติบโตสมบูรณ์เต็มที่ และพร้อมจะคลอดออกมานั่นเอง โดยคุณหมอจะเริ่มจากการซักถามประวัติ ข้อมูลจากคุณเจ้าของสัตว์ก่อน เพื่อจะให้ทราบระยะของการตั้งท้องที่ใกล้เคียงจริงที่สุด และก็จะประมาณการเทียบกับ ระยะตั้งท้องเฉลี่ยของสุนัข นั่นก็คือ  58-62 วันนั่นเอง จากนั้น คุณหมอจึงจะประมาณการกำหนดคลอดให้ได้ครับ ข้อมูล จากข้อ 1-5 เป็นข้อมูลที่สำคัญ จากการซักประวัติ และจากการตรวจของคุณหมอ ทำให้อ้างอิงถึงระยะของการตั้งท้องที่แท้จริงได้นั่นเอง   

ตัวอย่าง เช่น 

        หากคุณเจ้าของพาแม่สุนัขมาตรวจ ในช่วงเดือนหลังของการตั้งท้องแล้ว และจากประวัติการเป็นสัด และประวัติการผสมที่คุณหมอซักถามแล้ว พบว่า น่าจะอยู่ในช่วง 40-45 วันแล้วล่ะก็ คุณหมออาจจะขอ X-ray ตรวจ หากวันนี้ถ่ายภาพ X-ray แล้วพบว่า ยังไม่เห็นโครงกระดูกลูกเลย อาจเป็นได้ คือ ผสมไม่ติด หรือ อายุการตั้งท้องยังไม่ถึง 45 วันนั่นเองครับ โดยส่วนใหญ่การตรวจครั้งเดียวมักได้ข้อมูลไม่เพียงพอ จำเป็นจะต้องมีการตรวจซ้ำ โดยมากกรณีตัวอย่างนี้ คุณหมอจะนัดให้เข้ามาตรวจ X-ray ซ้ำอีก 1 สัปดาห์ หากครั้งนี้ พบว่า มีโครงกระดูกลูกชัดเจนแล้ว ก็ประมาณการได้ว่าเพิ่งผ่านอายุการตั้งท้อง 45 วันได้ไม่เกิน 7 วันนี้นั่นเอง  ซึ่งก็พอจะประมาณกำหนดคลอดคร่าวๆ ได้ คือ อีกอย่างน้อย 2 สัปดาห์ จะครบ 60 วัน เป็นค่ากึ่งกลางของการตั้งท้องนั่นเองครับ


Picture1 : ลูกสุนัขในท้อง
        ทีนี้ เมื่อถึงกำหนดคลอดแล้ว จะทราบได้อย่างไรว่า ลูกสัตว์สมบูรณ์เต็มที่แล้วจริงๆ ซึ่งคำถามนี้มักจะเกิดตามมาสำหรับกรณีที่คุณเจ้าของต้องการให้ผ่าออก เช่น เคยผ่ามาก่อนแล้ว หรือประเมินแล้วมีโอกาสคลอดยากสูง หรือสุนัขบางสายพันธุ์มีโอกาสคลอดยากได้ เช่น Bulldog เป็นต้น ทำให้มีความจำเป็นจะต้องผ่าคลอด  การตรวจความพร้อมของลูก ก่อนพิจารณาผ่าคลอดจึงเป็นเรื่องสำคัญ  คุณหมอสามารถตรวจความสมบูรณ์ของลูกสุนัขได้ ด้วย 2 วิธี ซึ่งคุณหมออาจแนะนำให้ทำคู่กัน คือ การ X-ray และอัลตราซาวน์วันที่เจ้าของพามาผ่าคลอดนั่นเองครับ (สำหรับกรณีที่คลอดเองได้ ไม่ต้องห่วงประเด็นนี้ครับ ส่วนใหญ่ สุนัขนักจะคลอดลูกในช่วงเวลาที่ลูกสมบูรณ์เต็มที่แล้วนั่นเอง) 
  • X-ray ในช่วงนี้ คุณหมอจะดูกระดูกของลูกสัตว์อยู่แล้ว แต่จะมีบางชิ้น ที่จะพบเห็นได้ก็ต่อเมื่อลูกสัตว์โตเต็มที่แล้วเท่านั้น เป็นต้น


  • การอัลตราซาวน์ นอกจากดูการมีชีวิตของลูกแล้ว ยังดูอัตราการเต้นของหัวใจลูกได้ด้วย โดยลูกสุนัขในช่วงตั้งท้องปกติหัวใจจะเต้นเร็วกว่าปกติ  จนถึงช่วงใกล้คลอดจะมีอัตราการเต้นของหัวใจที่ช้าลง จนใกล้เคียงกับสุนัขปกติแล้วนั่นเอง


หากตรวจ 2 รายการนี้แล้วได้ข้อมูลว่า ลูกสุนัขพร้อมคลอดแล้ว คุณหมอจึงจะพิจารณาผ่าคลอดให้ได้นะครับ เพื่อความสมบูรณ์สูงสุดของลูกน้อยนั่นเองครับ

รูปจาก : DogTipper, Puptopianyc,s3-us-west-1.amazonaws.com,ilearnedthat.com/animal-wombs/,www.dailymotion.com


Written by Webmaster
Published on 18 November 2012
น.สพ.คณิน  ตันติสุวัฒน์
น.สพ.คณิน ตันติสุวัฒน์
อายุรกรรมทั่วไป
ผู้สนับสนุนบทความ
• ด้านล่างเป็นเพียงส่วนของการคอมเม้นบทความเท่านั้น หากท่านต้องการสอบถามปัญหาสุขภาพสัตว์เลี้ยง กรุณาเข้าไปที่ http://www.facebook.com/odaijinipet และส่งข้อความเข้าสอบถามใน Inbox ท่านจะได้การตอบกลับโดยเร็วที่สุด และหากเป็นเรื่องเร่งด่วนอยากได้คำตอบโดยเร็วโทรสอบถามได้ที่ 02-9485099 ขอบคุณค่ะ :)