รพ.สัตว์โอะไดจินิ | เปิด 24 ชั่วโมง

โรคไข้หวัดแมว (Cat Flu)


        ปัจจุบันการเลี้ยงแมวกำลังเป็นที่นิยมอย่างมาก บางครั้งเวลาเราเล่นกับน้องแมวแล้วสังเกตเห็น น้ำมูก น้ำตา หรือมีอาการบางอย่างที่ผิดปกติไป สิ่งเหล่านี้อาจเป็นสัญญาณบ่งบอกว่าน้องกำลังป่วย  และเชื่อว่าทุกคนอยากให้น้องหายป่วยเร็วที่สุด ดังนั้นการมีความรู้เบื้องต้นในการป้องกันจะช่วยให้น้องแมวได้รับการดูแลอย่างถูกวิธีซึ่งบทความนี้ขอนำเสนอโรคในแมวที่พบบ่อยซึ่งได้แก่ “โรคไข้หวัดแมว” 

อะไรคือสาเหตุของโรคไข้หวัดแมว 

        ไข้หวัดแมว เป็นโรคติดต่อที่เกิดได้จากเชื้อโรคหลายชนิดในระบบทางเดินหายใจส่วนต้น  น้องแมวประมาณ 80% ที่ป่วยเป็นโรคไข้หวัดแมวนี้ มีสาเหตุมาจากการติดเชื้อไวรัส 2 ชนิดได้แก่ เชื้อไวรัสคาลิซิ (Feline Calicivirus) และ เชื้อไวรัสเฮอร์ปีส์ (Feline Herpesvirus) นอกจากนี้ ยังมีเชื้อไวรัสชนิดอื่นและแบคทีเรียที่ทำให้เกิดโรคไข้หวัดแมวได้อีกด้วย ซึ่งไวรัสทั้งสองชนิดที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น ไม่มีรายงานระบุว่ามีการติดต่อมาสู่คน

        เชื้อไวรัสทั้ง 2 ชนิดสามารถติดต่อได้จากการที่แมวของเราไปสัมผัสน้ำตา  ขี้ตา  น้ำมูก  หรือน้ำลายของแมวที่ป่วยด้วยโรคนี้ และยังสามารถได้รับเชื้อโรคจากสิ่งแวดล้อมที่เชื้อโรคนี้ปนเปื้อนอยู่ 

น้องแมวจะแสดงอาการอย่างไร



        น้องแมวอาจมีน้ำมูก  น้ำตา  ขี้ตา  เยื่อบุตาอักเสบแดง  หรือจาม  บางครั้งอาจพบอาการ น้ำลายไหลมาก มีแผลหลุมในช่องปาก  ไอ  อาการอาจรุนแรงถึงระดับปอดบวมอักเสบได้  บางครั้งการเปลี่ยนที่อยู่อาศัย  การมีสมาชิกแมวใหม่ในฝูง  การเดินทาง  การเลี้ยงลูกและให้นมลูก  ทำให้น้องเกิดความเครียดและแสดงอาการของโรคไข้หวัดแมวได้ โดยเฉพาะลูกแมวเพราะร่างกายยังมีระบบภูมิคุ้มกันโรคที่ไม่สมบูรณ์ ซึ่งง่ายต่อการติดเชื้อไวรัส



การรักษาโรคไข้หวัดแมว


        “ปัจจุบันยังไม่มียาต้านไวรัสในแมวโดยเฉพาะการใช้ยาต้านไวรัสของคนมีประสิทธิภาพไม่เพียงพอ และเป็นพิษต่อแมว”
        การรักษาโรคนี้ ในปัจจุบันเป็นการรักษาตามอาการ (เพื่อรอให้ภูมิคุ้มกันของน้องแมวกำจัดโรคออกไปเอง)  การเสริมกรดอะมิโนบางชนิดเพื่อลดการแพร่กระจายของเชื้อไวรัส  นอกจากนี้ยังมีการใช้วิธีกระตุ้นภูมิคุ้มกันของร่างกายเพื่อเร่งให้ร่างกายสามารถกำจัดเชื้อไวรัสออกไปได้เร็วยิ่งขึ้น 

การป้องกันโรค



        การรับวัคซีน เป็นวิธีที่ดีที่สุดในการป้องกันก่อนติดเชื้อไวรัส ลูกแมวสามารรับวัคซีนได้ ตั้งแต่อายุ 2 เดือน  ฉีดทั้งหมด 3 เข็ม  จึงจะถือว่าครบ  และกระตุ้นวัคซีนอีกปีละ 1 ครั้ง ส่วนในน้องแมวที่อายุมากกว่า 4 เดือน แต่ยังไม่ได้รับวัคซีน ก็สามารถทำได้เช่นกัน โดยสัตวแพทย์จะมีการปรับเปลี่ยนโปรแกรมวัคซีนไปตามความเหมาะสม

        จากข้อมูลดังกล่าวคงทำให้คุณเจ้าของแมวทุกคนเข้าใจถึงไข้หวัดแมวดียิ่งขึ้นนะครับ การใส่ใจในการดูแลสุขภาพของสัตว์เลี้ยงอย่างสม่ำเสมอ  เช่น  การรับวัคซีนป้องกันก่อนเกิดโรค  การถ่ายพยาธิและการตรวจสุขภาพโดยสัตวแพทย์เป็นประจำ  จะทำให้น้องๆ มีชีวิตที่ดี ลดโอกาสการเจ็บป่วยจากโรคได้เป็นอย่างดี และสามารถมีชีวิตอยู่กับเราได้ยาวนานยิ่งขึ้น 
   

 

รูปที่ 1 ลูกแมวที่ได้รับวัคซีนป้องกันโรคไม่ครบ มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดโรคไข้หวัดแมว

รูปที่ 2 แมวที่มีภาวะเยื่อบุตาบวม และมีน้ำมูกน้ำตาเป็นเมือกปนหนอง (ref.1)





ref1 = Sykes, J. E. (2013). Canine and Feline Infectious Diseases-E-BOOK. Elsevier Health Sciences.

Written by Webmaster
Published on 21 August 2017
ทีมสัตวแพทย์ประจำ
โรงพยาบาลสัตว์โอะไดจินิ
ผู้สนับสนุนบทความ
• ด้านล่างเป็นเพียงส่วนของการคอมเม้นบทความเท่านั้น หากท่านต้องการสอบถามปัญหาสุขภาพสัตว์เลี้ยง กรุณาเข้าไปที่ http://www.facebook.com/odaijinipet และส่งข้อความเข้าสอบถามใน Inbox ท่านจะได้การตอบกลับโดยเร็วที่สุด และหากเป็นเรื่องเร่งด่วนอยากได้คำตอบโดยเร็วโทรสอบถามได้ที่ 02-9485099 ขอบคุณค่ะ :)