รพ.สัตว์โอะไดจินิ | เปิด 24 ชั่วโมง

น้องหมาอ้วน...ไม่ดียังไง?


        คุณเจ้าของอาจเคยเรียกเจ้าตัวยุ่งที่บ้านด้วยความรู้สึกที่เอ็นดูว่า “เจ้าอ้วน เจ้าหมูน้อย” บ้างไหมคะ? บางครั้งน้องหมาของเราก็ดูคล้ายเจ้าพะยูน และบางครั้งก็ดูเหมือนก้อนอะไรกลมๆ เคลื่อนที่ได้ น้องหมาอ้วนๆ ของเราอาจจะดูน่ารักในสายตาเรานะคะ แต่ไม่ใช่เรื่องที่ดีเลยสำหรับสุขภาพของเค้าแน่ค่ะ
น้องหมาอ้วน...แล้วไม่ดียังไงน่ะหรอ?
เค้าก็จะมีอาการ  ปัญหา หรือโรคเหล่านี้ตามมาได้ คือ
  • เหนื่อยง่าย ไม่อยากออกกำลังกาย นอนทั้งวัน ระบบการทำงานต่างๆ ของร่างกายก็จะแย่ลง
  • คุณภาพชีวิตลดลง เพราะขยับตัวได้ลำบากขึ้น
  • ระบบภูมิคุ้มกันต่างๆ ในร่างกายทำงานได้ลดลง
  • เพิ่มความเสี่ยงในการวางยาสลบ เนื่องจากยาสลบจะไปสะสมอยู่ตามไขมัน และจะอยู่ในนั้นจนกว่าจะถูกตับกำจัดออกไป อ้วนมาก็ตื่นจากยาสลบได้ยากขึ้นนั่นเองค่ะ
  • ความเสี่ยงในการเกิดโรคต่างๆ เพิ่มขึ้นมาก ไม่ว่าจะเป็น
    • โรคระบบหลอดเลือดและหัวใจ
    • โรคเบาหวาน
    • โรคกระดูกและข้อต่อ
    • โรคระบบทางเดินอาหาร
    • โรคระบบทางเดินปัสสาวะ
    • โรคระบบทางเดินหายใจ
    • โรคผิวหนัง
    • โรคมะเร็ง
    • รวมไปถึงปัญหาในระบบสืบพันธุ์
นั่นคือ อายุจะสั้นลง จากโรคแทรกซ้อนต่างๆ ที่เกิดขึ้น

น้องหมาของเราอ้วนหรือเปล่านะ? 


วิธีสังเกตง่ายๆ เบื้องต้น ว่าน้องหมาของเราเริ่มอ้วนแล้วรึเปล่า ดูได้จาก
  • มองไม่เห็นเอว น้องหมาหุ่นดี ก็เหมือนคนที่จะต้องมีเอวคอดเล็กน้อย
  • ช่วงท้องไม่เว้า ไม่โค้งเหมือนแต่ก่อน
  • ท้องขยายออก
  • มีไขมันสะสมมาก
  • เหนื่อยง่าย ออกกำลังเพียงเล็กน้อยก็จะเหนื่อย และหยุดพัก
  • น้ำหนักเพิ่มขึ้น ไม่สันพันธ์กับอายุ และสายพันธุ์
  • หากลองคลำหากระดูกซี่โครงจะหาเจอได้ยากขึ้น หรืออาจคลำไม่พบกระดูกซี่โครงเลยก็เป็นได้
  • คลำไม่พบแนวกระดูกสันหลัง พบแต่ไขมันสะสมบริเวณหลังและโคนหาง
        ถ้าน้องหมาที่บ้านมีลักษณะดังกล่าวข้างต้นนี้ เป็นไปได้ค่ะว่าน้องหมาของเราเริ่มอ้วนแล้ว แต่ถ้ายังไม่แน่ใจ ให้พาปรีกษากับสัตวแพทย์ประจำตัวน้องหมาได้เลยค่ะ


น้องหมาน้ำหนักขึ้น... นี่น้องหมาของเราอ้วนหรือเปล่านะ? 

        น้ำหนักขึ้นเกิดได้จากหลายสาเหตุ ไม่เพียงเกิดจากแค่การกินอาหารมาเกินความต้องการของร่างกายอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังอาจเกิดจากความผิดปกติอื่นๆ ของร่างกายได้ ไม่ว่าจะเป็น
  • การมีน้ำสะสมในช่องอกหรือช่องท้อง ซึ่งอาจเกิดได้จากมีปัญหาโรคหัวใจ  โรคตับ  โรคไต  ความผิดปกติของระบบทางเดินน้ำเหลือง หรือ ที่ทำให้เกิดภาวะหลอดเลือดอักเสบ เป็นต้น
  • การมีไขมันสะสมในร่างกายเพิ่มขึ้นจากความผิดปกติของระบบต่อมไร้ท่อ 
  • อวัยวะขยายใหญ่ เช่น ในสัตว์ท้อง หรือสัตว์ที่มีปัญหามดลูกอักเสบ หรือแม้กระทั่งโรคมะเร็ง 
        ดังนั้นหากไม่แน่ใจ ก็ควรพาน้องหมาไปพบกับสัตวแพทย์นะคะ 


ทำไมน้องหมาของเราถึงอ้วนได้นะ?
  • ให้อาหารเยอะเกินไป ให้ปริมาณอาหารต่อมื้อมากเกินไป หรือจำนวนมื้อต่อวันมากเกินไป รวมถึงการให้ขนมเสริมมากเกินไปด้วย
  • ให้อาหารที่มีพลังงานสูง แต่น้องหมามีพฤติกรรมใช้พลังงานต่ำ เช่น นอนเยอะ ไม่มีที่ออกกำลังกาย เป็นต้น
  • น้องหมากินเยอะไป ซึ่งเป็นไปได้ทั้งปัญหาทางด้านพฤติกรรม และโรค


ความเข้าใจที่ผิดถึงสิ่งที่ทำให้น้องหมาอ้วน

        การให้อาหารเม็ดเพียงอย่างเดียวจะทำให้น้องหมาไม่อิ่ม หรือสารอาหารไม่เพียงพอ  ทำให้เจ้าของเสริมอาหารกระป๋อง  อาหารเสริม ขนมต่างๆ รวมทั้งข้าว หรืออาหารที่เจ้าของปรุงเองด้วย ซึ่งทั้งหมดข้างต้น เป็นความเข้าใจที่ผิด
        การให้อาหารเม็ดสำเร็จรูปที่วางขายตามร้านขายอาหารสัตว์ ส่วนใหญ่เป็นอาหารที่มีสารอาหารครบถ้วน (Complete Diet) อยู่แล้ว  ซึ่งปริมาณอาหารที่ให้ตามที่ผู้ผลิตแนะนำนั้นเพียงพอต่อความต้องการของน้องหมาอยู่แล้ว ไม่จำเป็นจะต้องเสริมอะไรเพิ่มเติมอีก ยิ่งให้มากเกินไปก็ยิ่งจะทำให้น้องหมาอ้วนขึ้นได้นั่นเองค่ะ


แล้วจะทำไงดี? ถ้าน้องหมาอยากจะผอมแล้ว
  1. ควรปรึกษาสัตวแพทย์ ถึงชนิดและปริมาณที่เหมาะสมสำหรับลดน้ำหนักของน้องหมาแต่ละตัว ซึ่งแตกต่างในช่วงอายุ สายพันธุ์ รวมถึงพฤติกรรมการกิน (อาหารที่ดี ที่สัตวแพทย์มักแนะนำส่วนใหญ่จะเป็นอาหารที่ยังคงสารอาหารสำคัญไว้ครบถ้วน แต่จะเป็นอาหารที่ช่วยให้กระบวนการเผาผลาญของเค้าดียิ่งขึ้นนั่นเอง) โดยในระหว่างลดน้ำหนักนี้ น้องหมาไม่ควรได้รับอาหารหรือขนมอื่นๆ เพิ่มเติมอีก

  2. การแบ่งอาหารออกเป็นมื้อย่อยๆ หลายๆ มื้อ จะดีกว่าการให้มื้อใหญ่เพียงมื้อเดียว เนื่องจาก ระยะห่างระหว่างมื้ออาหารที่มากเกินไป อาจทำให้น้องหมาหิวมากขึ้น และกินมากขึ้นได้นั่นเอง ทั้งนี้ การแบ่งมื้ออาหารเพิ่มขึ้น ยังจะช่วยลดพฤติกรรมการขออาหารของน้องหมาจากความหิวระหว่างมื้อลงได้ด้วยนะคะ
  3. อาจค่อยๆ เปลี่ยนจากอาหารสูตรเดิมมาเป็นอาหารสูตรลดน้ำหนัก  โดยค่อยๆ เพิ่มสัดส่วนปริมาณอาหารลดน้ำหนักและค่อยๆ ลดสัดส่วนปริมาณอาหารเก่าลงที่ละน้อย
  4. ควรตั้งน้ำดื่มสะอาดทิ้งไว้ให้น้องหมากินได้ตลอดเวลา โดยเฉพาะระหว่างมื้ออาหาร
  5. ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เช่น พาน้องหมาไปเดินเล่น หรือใช้เวลาเล่น หรือทำกิจกรรมกับน้องหมาให้มากยิ่งขึ้น


  6. น้องหมาที่ทำหมันจะมีความเสี่ยงที่จะอ้วนมากกว่าน้องหมาที่ยังไม่ได้ทำหมัน เนื่องจากการขาดฮอร์โมนเพศ ทำให้ลดการทำกิจกรรมในแต่ละวันลงไป แต่เราสามารถลดความเสี่ยงตรงนี้ได้โดยการปรับอาหารให้เหมาะสม โดยใช้สูตรอาหารที่เหมาะกับน้องหมาที่ทำหมัน รวมถึงพาไปออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ


       เพื่อให้น้องหมาที่น่ารัก อยู่กับเราได้นานๆ อย่าลืม ดูแลเค้าเป็นอย่างดี อย่าให้เค้าอ้วน น้ำหนักเกิน จนนำไปสู่โรคร้ายต่างๆ ได้นะคะ



ขอขอบคุณรูปภาพจากwww.rsc.org, www.human-anatomy101.net, stuffpoint.com, famousdogimages.blogspot.com


Written by Webmaster
Published on 28 August 2015
สพ.ญ.วีจาริน ปภุสสโร
สพ.ญ.วีจาริน ปภุสสโร
อายุรกรรมทั่วไป
ผู้สนับสนุนบทความ
• ด้านล่างเป็นเพียงส่วนของการคอมเม้นบทความเท่านั้น หากท่านต้องการสอบถามปัญหาสุขภาพสัตว์เลี้ยง กรุณาเข้าไปที่ http://www.facebook.com/odaijinipet และส่งข้อความเข้าสอบถามใน Inbox ท่านจะได้การตอบกลับโดยเร็วที่สุด และหากเป็นเรื่องเร่งด่วนอยากได้คำตอบโดยเร็วโทรสอบถามได้ที่ 02-9485099 ขอบคุณค่ะ :)