รพ.สัตว์โอะไดจินิ | เปิด 24 ชั่วโมง

พยาธิหนอนหัวใจในน้องหมา ภัยร้ายจากยุง


พยาธิหนอนหัวใจในน้องหมา ภัยร้ายจากยุง

"เอ๋? โรคนี้มันคืออะไรน้า เกิดจากอะไร? ทำไมเราต้องป้องกัน? พี่หมอตอบหนูที"

        วันนี้หมอจะมาไขข้อข้องใจน้องหมากับคุณเจ้าของ เรามาหาคำตอบไปพร้อมๆ กันนะคะ :)

        โรคนี้เกิดจากการติดพยาธิหนอนหัวใจ (Dirofilaria immitis) ซึ่งติดต่อโดยการที่น้องหมาได้รับตัวอ่อนระยะติดโรคหรือตัวอ่อนระยะที่ 3 จากยุงเท่านั้น 



        โดยยุงจะรับตัวอ่อนระยะที่ 1 หรือไมโครฟิลาเรียจากน้องหมาที่มีตัวอ่อนระยะดังกล่าวโดยการดูดเลือด ตัวอ่อนจะพัฒนาจากระยะที่ 1 ไปเป็นระยะที่ 2 และระยะที่ 3 ภายในตัวยุง จากนั้นยุงจะปล่อยตัวอ่อนระยะที่ 3 สู่น้องหมาตัวที่ถูกกัด ตัวอ่อนระยะที่ 3 จะเคลื่อนเข้าสู่ชั้นใต้ผิวหนังและพัฒนาเข้าสู่ตัวอ่อนระยะที่ 4 และตัวอ่อนระยะที่ 5 จากนั้นจะเคลื่อนเข้าสู่หลอดเลือดแดงใหญ่ที่ปอด (Pulmonary artery) พัฒนาเป็นตัวเต็มวัย รวมเวลาทั้งหมดจากระยะตัวอ่อนติดโรคเป็นตัวเต็มวัยประมาณ 5-6 เดือน แล้วพยาธิตัวเต็มวัยจะสามารถปล่อยตัวอ่อนระยะที่ 1 เข้าสู่กระแสเลือดได้อีกครั้ง หลังจากได้รับตัวอ่อนพยาธิประมาณ 6-9 เดือน     ดังนั้นน้องหมาที่ อายุน้อยกว่า 6 เดือนจึงยังไม่มีโอกาสติดโรคพยาธิหนอนหัวใจได้ นั่นเองค่ะ  สำหรับในน้องหมาบางตัวอาจจะไม่มีการปล่อยตัวอ่อนระยะที่ 1 เข้าสู่กระแสเลือดเลย (Occult Infection) เนื่องจากตัวน้องหมาสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมาทำลายตัวอ่อนพยาธิ หรือจากการที่มีพยาธิเพียงเพศเดียว หรือพยาธิตัวเต็มวัยเป็นหมัน หรือพยาธิยังไม่พัฒนาเป็นตัวเต็มวัยก็เป็นได้



หากถามว่า น้องหมาตัวไหนเสี่ยงเป็นพยาธิหนอนหัวใจบ้าง?

        น้องหมาทุกตัวที่มีโอกาสโดนยุงกัดก็จะมีโอกาสติดพยาธิหนอนหัวใจได้ค่ะ ดังนั้นน้องหมาพันธุ์ใหญ่ที่เรามักเลี้ยงไว้นอกบ้านก็จะมีโอกาสติดมากกว่าน้องหมาพันธุ์เล็กที่มักจะเลี้ยงไว้ภายในบ้าน เพราะมีโอกาสโดนยุงกัดมากกว่านั่นเองค่ะ

เราจะรู้ได้อย่างไรว่าน้องหมาเป็นโรคพยาธิหนอนหัวใจ?

  1. อาการ น้องหมาที่เป็นโรคนี้นั้นจะผอม น้ำหนักลด อ่อนแรง เป็นลม (syncope) หายใจลำบากเนื่องจากปอดอักเสบหรือมีภาวะของเหลวคั่งในช่องอก ไอแห้งๆ หรือบางตัวอาจมีอาการไอเป็นเลือด รวมถึงอาการจากภาวะหัวใจด้านขวาล้มเหลว เช่น ท้องมาน เป็นต้น หากน้องหมาที่บ้านมีอาการดังกล่าวควรรีบพาไปพบสัตวแพทย์นะคะ
  2. การตรวจแอนติเจนโดยชุดทดสอบ ชุดทดสอบจะตรวจสอบการปรากฏของแอนติเจนของระบบสืบพันธุ์ในหนอนพยาธิหัวใจเพศเมีย โดยจะให้ผลบวกเมื่อมีพยาธิตัวเมียตัวเต็มวัยอย่างน้อย 3 ตัว และมีอายุอย่างน้อย 7-8 เดือน ดังนั้นจึงใช้ชุดทดสอบนี้ตรวจได้เมื่อลูกหมามีอายุ 7 เดือนขึ้นไป และสามารถถามหาการตรวจชุดทดสอบนี้ได้กับสัตวแพทย์ที่รพ. นะคะ
  3. การตรวจหาตัวอ่อนพยาธิหนอนหัวใจในกระแสเลือดโดยน้องหมาตัวที่สงสัย หมอจะเก็บเลือดเพื่อส่งตรวจต่อไปค่ะ
  4. การตรวจด้วยภาพ x-rayจะเป็นการตรวจประกอบการวินิจฉัย
  5. การตรวจด้วยเครื่อง ultrasound จะเป็นการตรวจประกอบการวินิจฉัย


การป้องกันการติดพยาธิหนอนหัวใจ

        น้องหมาจะติดโรคนี้จากโดนยุงที่มีเชื้อกัดเท่านั้น การป้องกันไม่ให้ยุงกัดน้องหมาเลยอาจจะเป็นเรื่องยากในเมืองไทย ดังนั้นการป้องกันการติดพยาธิหนอนหัวใจด้วยยาอย่างสม่ำเสมอจึงเป็นเรื่องสำคัญ และควรเริ่มตั้งแต่น้องหมาอายุ 3 เดือน สำหรับน้องหมาที่อายุมากกว่า 7 เดือน ที่ยังไม่เคยตรวจแอนติเจน หรือน้องหมาที่ขาดการป้องกันอย่างต่อเนื่อง ควรมีการตรวจแอนติเจนและตัวอ่อนในกระแสเลือดซ้ำก่อนนะคะ

รูปแบบการป้องกันพยาธิหนอนหัวใจในปัจจุบัน

    • แบบหยดยาเดือนละครั้ง
    • แบบกินยาเดือนละครั้ง
    • แบบฉีดปีละครั้ง

        คุณเจ้าของสามารถนำน้องหมามาพบสัตวแพทย์เพื่อปรึกษารูปแบบการป้องกันที่เหมาะสมสำหรับน้องหมาแต่ละตัวได้นะค่ะ อย่าลืมพาน้องหมามาป้องกันพยาธิหัวใจเป็นประจำเพื่อสุขภาพที่ดีของน้องหมาของเรานะคะ :)

"แม่จ๋า อย่าลืมพาหนูไปหาพี่หมอเพื่อป้องกันพยาธิหนอนหัวใจน้า หนูกลัว >.< "

ขอบคุณรูปภาพจาก klovet.com, beckeranimalhospital.com, dogchatforum.com


Written by Webmaster
Published on 17 July 2015
สพ.ญ.วีจาริน ปภุสสโร
สพ.ญ.วีจาริน ปภุสสโร
อายุรกรรมทั่วไป
ผู้สนับสนุนบทความ
• ด้านล่างเป็นเพียงส่วนของการคอมเม้นบทความเท่านั้น หากท่านต้องการสอบถามปัญหาสุขภาพสัตว์เลี้ยง กรุณาเข้าไปที่ http://www.facebook.com/odaijinipet และส่งข้อความเข้าสอบถามใน Inbox ท่านจะได้การตอบกลับโดยเร็วที่สุด และหากเป็นเรื่องเร่งด่วนอยากได้คำตอบโดยเร็วโทรสอบถามได้ที่ 02-9485099 ขอบคุณค่ะ :)