รพ.สัตว์โอะไดจินิ | เปิด 24 ชั่วโมง

โรคในช่องปากที่พบได้บ่อยในสัตว์เลี้ยง...


            คุณรู้ไหมว่า  มากกว่าครึ่งหนึ่งของจำนวนประชากรสุนัขและแมวที่มีอายุมากกว่า 3 ปี  จะแสดงอาการทางช่องปากให้เห็น  เพราะปัญหาในช่องปากและฟันของสัตว์ควรมีการเอาใจใส่ดูแลไม่ต่างจากมนุษย์  ซึ่งปัญหาในช่องปากที่พบได้บ่อยในสัตว์เลี้ยง  ได้แก่  การเกิดหินปูนที่ตัวฟัน  โรคเหงือกอักเสบ  และเนื้องอกในช่องปาก  เป็นต้น

            สิ่งที่สุนัขและแมวแตกต่างจากคนคือ  พวกเขาไม่สามารถที่จะหยิบแปรงสีฟันขึ้นแปรง  หรือทายาสีฟันในปากด้วยตัวเอง  ดังนั้นเราที่เป็นเจ้าของสัตว์เลี้ยงเหล่านั้น  ควรจะดำเนินการเพื่อช่วยเหลือเพื่อสุขภาพช่องปากที่ดีของสัตว์เลี้ยงที่เรารัก  เพราะวิธี่ที่จะป้องกันโรคเหงือกและโรคฟันดังกล่าวคือ  การดูแลทำความสะอาดในช่องปากอย่างสม่ำเสมอ

            บางครั้งเราอาจมองไม่เห็นว่า  ลำพังแค่การอักเสบของฟันจะเป็นสาเหตุโน้มนำให้โรคที่ร้ายแรงตามมาได้อย่างไร  แต่ในความเป็นจริงแล้ว  แบคทีเรีย  ที่อยู่ในช่องปากจะไปตามกระแสเลือดเข้าสู่อวัยวะที่สำคัญต่างๆ  ในร่างกายได้อย่างไม่ยากเย็น  ทำให้เกิดอาการอักเสบเรื้อรังของอวัยวะที่สำคัญในร่างกาย  เช่น  โรคลิ้นหัวใจอักเสบ  หรือโรคตับ  ซึ่งอาจทำให้สัตว์เสียชีวิตในเวลาต่อมา

            อย่างไรก็ตาม  เป็นที่น่ายินดีว่าภัยจากโรคดังกล่าวสามารถป้องกันได้  หากเราตรวจพบอาการดังกล่าวได้ก่อนในระยะแรกและทำการรักษาอย่างถูกวิธี  โดยเริ่มต้นจากการสังเกตของเจ้าของ  จากนั้นหากมีความผิดปกติควรรีบนำสัตว์มาพบสัตวแพทย์เพื่อรักษาก่อนมันจะสายเกินไป

คุณจะรู้ได้อย่างไรว่า  สัตว์เลี้ยงของคุณมีปัญหาสุขภาพช่องปาก

1.  การดูภายนอก  เช่น  มีกลิ่นปาก  ปากเหม็น  เบื่ออาหาร  อยากกินแต่ไม่อยากกินอาหารเม็ดหรือขนมที่แข็ง  น้ำหนักลดลง  น้ำลายไหลยืด  น้ำลายมีเลือดหรือหนองปน  น้ำมูกไหลใสจนถึงข้นเขียว  เป็นๆ  หายๆ  รักษาไม่หายขาดเสียที  หรือมีฝีที่ใต้ตา

2.  การดูภายในปาก เช่น สีฟันเปลี่ยน  เหงือกบวม  เหงือกแดง  มีหนองที่เหงือก  ฟันหลุด  มีก่อนเนื้อ  มีแผบที่กระพุ้งแก้มหรือลิ้น  มีหินปูนเกาะตัวฟัน  โดยหินปูนจะมีสีน้ำตาลและแข็ง  ซึ่งเราสามารถแบ่งระดับการเกิดหินปูนแบบง่ายๆ ดังนี้
            ระดับที่  1  หินปูนน้อย  มีหินปูนเกาะน้อยกว่า  25  เปอร์เซ็นต์ของตัวฟัน  อาจเห็นติดเป็นเส้นสีน้ำตาลที่ขอบเหงือก  อาจยังดูปกติหรือแดงเล็กน้อย  สามารถรักษาด้วยการขูดหินปูน
            ระดับที่  2  หินปูนปานกลาง  มีหินปูนเกาะน้อยกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ของตัวฟัน  อาจเห็นติดเป็นก้อนสีน้ำตาล  สีของเหงือกแดงและบวมอักเสบ  สามารถรักษาด้วยการขูดหินปูน
            ระดับที่  3  หินปูนมาก  มีหินปูนน้อยกว่า  75 เปอร์เซ็นต์ของตัวฟัน  สีของเหงือกแดงมาก  บวมและอาจมีเลือดออกเมื่อกินอาหารแข็งหรือแปรงฟัน  เริ่มมีเหงือกร่น  ฟันบางซี่หินปูนเยอะหรือคมจนทำให้เกิดแผลที่กระพุ้งแก้ม  ซึ่งในระดับนี้  การรักษาด้วยการขูดหินปูนอาจไม่เพียงพอ  อาจต้องถอนฟัน  รักษารากฟันหรือทานยาปฏิชีวนะ
           ระดับที่  4  หินปูนรุนแรง  มีหินปูนเกาะมากกว่า  75  เปอร์เซ็นต์ของตัวฟัน  มีเหงือกร่น  เหงือกแดงมาก  บวมและอาจมีหนอง  พบครีมสีขาวๆ  บนรอยต่อระหว่างเหงือกและฟันส่งกลิ่นเหม็นมาก  ลมหายใจมีกลิ่นแรง  ซึ่งในระดับนี้ไม่สามารถรักษาด้วยการขูดหินปูนได้  ต้องถอนฟัน  และทานยาปฏิชีวนะ

            อย่างไรก็ตาม  อาการในสัตว์แต่ละตัวอาจมีระดับความรุนแรงที่ต่างกัน  และขึ้นอยู่กับแต่ละซี่ฟันด้วย  ซึ่งสัตวแพทย์จะให้การรักษาที่เหมาะสมตามแต่ระดับที่พบ  ทว่าหากเจ้าของพบตั้งแต่ระดับ  1-2  อย่ารอช้าควรรีบพามาขูดหินปูนเพื่อป้องกันโรคเหงือกและการติดเชื้อในช่องปากไปสุ่ร่างกาย

           ทั้งนี้  เจ้าของมักหมั่นเปิดปากสัตว์เลี้ยงตั้งแต่ยังเล็กเพื่อให้เกิดความคุ้นเคย  และง่ายต่อการสังเกตอาการตั้งแต่ระยะแรก  โดยจำไว้ว่า  โรคฟันสามารถทำให้เกิดโรคร้ายแรงต่างๆ  ตามมา  และขอให้เจ้าของสัตว์อย่าละเลย  ขอให้นำสัตว์มาหาเราที่เป็นสัตวแพทย์ที่พร้อมจะช่วยเหลือคุณและสัตว์เลี้ยงอย่างเต็มความสามารถ


Written by Webmaster
Published on 3 November 2012
สพ.ญ.นฤพัฒน์  บุนนาค
สพ.ญ.นฤพัฒน์ บุนนาค
ศัลยกรรม, วิสัญญีแพทย์
ผู้สนับสนุนบทความ
• ด้านล่างเป็นเพียงส่วนของการคอมเม้นบทความเท่านั้น หากท่านต้องการสอบถามปัญหาสุขภาพสัตว์เลี้ยง กรุณาเข้าไปที่ http://www.facebook.com/odaijinipet และส่งข้อความเข้าสอบถามใน Inbox ท่านจะได้การตอบกลับโดยเร็วที่สุด และหากเป็นเรื่องเร่งด่วนอยากได้คำตอบโดยเร็วโทรสอบถามได้ที่ 02-9485099 ขอบคุณค่ะ :)