รพ.สัตว์โอะไดจินิ | เปิด 24 ชั่วโมง

ภาวะฟันน้ำนมค้างในลูกสุนัข


               เมื่อเจ้าของได้ลูกสุนัขมาเลี้ยงสักตัว โดยส่วนใหญ่แล้วเจ้าของจะให้ความสำคัญกับเรื่องอาหาร การทำวัคซีน การถ่ายพยาธิ เพื่อหวังให้สุนัขของเรามีสุขภาพดีที่สุด แต่ปัญหาหนึ่งที่มักถูกมองข้าม คือปัญหาเกี่ยวกับความผิดปกติของฟันในลูกสุนัข โดยปัญหาเกี่ยวกับฟันมักถูกมองว่าเป็นปัญหาของสุนัขแก่ ลูกสุนัขไม่น่ามีปัญหาเกี่ยวกับฟัน แท้จริงแล้วปัญหาความผิดปกติของฟันนั้นสามารถพบได้บ่อยในลูกสุนัข และหลายปัญหาหากไม่ได้รับการแก้ไขอย่างทันท่วงทีจะส่งผลให้เกิดความผิดปกติอย่างถาวร และก่อให้เกิดผลเสียเมื่อสุนัขโตขึ้น ความผิดปกติของฟันที่สามารถพบได้บ่อยในลูกสุนัข โดยเฉพาะในลูกสุนัขพันธุ์เล็ก และเชื่อว่าเป็นความผิดปกติที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม คือ ภาวะฟันน้ำนมค้าง

การเจริญของฟันที่ปกติในลูกสุนัข

              ลูกสุนัขจะมีฟันน้ำนมทั้งหมด 28 ซี่ ประกอบด้วยฟันตัด 12 ซี่ ฟันเขี้ยว 4 ซี่ และฟันกรามน้อย 12 ซี่ เมื่อแรกเกิดนั้นลูกสุนัขจะยังไม่มีฟัน แต่จะเริ่มมีฟันงอกขึ้นมาภายหลัง ฟันตัดจะงอกเมื่อสุนัขอายุประมาณ 4-6 สัปดาห์ ฟันเขี้ยวงอกเมื่อสุนัขอายุประมาณ 3-5 สัปดาห์ และฟันกรามน้อยจะงอกเมื่อสุนัขมีอายุประมาณ 5-6 สัปดาห์ และเริ่มมีการผลัดเปลี่ยนฟันจากฟันน้ำนมเป็นฟันแท้เมื่ออายุประมาณ 3 เดือน โดยเมื่อฟันแท้เริ่มงอกขึ้นมา ฟันน้ำนมในตำแหน่งเดียวกันนั้นจะหลุดออกโดยมักหลุดติดไปกับของเล่น หรือหลุดขณะลูกสุนัขกินอาหารแล้วถูกกลืนลงคอไป ฟันตัดแท้งอกเมื่ออายุประมาณ 3-4 เดือน ฟันเขี้ยวแท้ งอกเมื่ออายุประมาณ 3-5 เดือน ฟันกรามน้อยแท้งอกเมื่ออายุประมาณ 4-5 เดือน และฟันกรามแท้งอกที่อายุประมาณ 5-6 เดือน

ภาวะฟันน้ำนมค้าง

              ลูกสุนัขจะเริ่มมีการผลัดเปลี่ยนฟันจากฟันน้ำนมเป็นฟันแท้เมื่อมีอายุได้ประมาณ 3-4 เดือน หากมีฟันแท้โผล่พ้นเหงือกขึ้นมาแล้ว แต่ฟันน้ำนมในตำแหน่งเดียวกันไม่ยอมหลุดออก แสดงว่าเกิด “ภาวะฟันน้ำนมค้าง” ขึ้น ตำแหน่งที่สามารถพบภาวะฟันน้ำนมค้างได้บ่อยคือ ฟันตัดฟันเขี้ยวบน และฟันเขี้ยวล่าง

การเกิดฟันน้ำนมค้างที่ตำแหน่งฟันตัด

              ฟันตัดแท้ทั้งที่อยู่ที่ขากรรไกรบนและล่างจะเริ่มงอกทางด้านหลังของฟันตัดน้ำนม แล้วค่อยๆขยับมาแทนที่เมื่อฟันน้ำนมนั้นหลุดออก การคงค้างของฟันน้ำนมจะทำให้ฟันตัดแท้ต้องเจริญในทิศทางที่อยู่ทางด้านหลังมากกว่าปกติทำให้เกิดการสบฟันที่ผิดปกติตามมาได้

Picture 1 : การเกิดฟันน้ำนมค้างที่ตำแหน่งฟันเขี้ยวบน

             ฟันเขี้ยวแท้ของขากรรไกรบนจะเริ่มงอกขึ้นมาทางด้านหน้าของฟันเขี้ยวน้ำนมแล้วค่อยๆแทนที่ในตำแหน่งของฟันเขี้ยวน้ำนม เมื่อฟันเขี้ยวน้ำนมนั้นหลุดออก การคงค้างของฟันเขี้ยวน้ำนมทำให้ฟันเขี้ยวแท้ไม่สามารถเจริญในตำแหน่งปกติได้ เนื่องจากถูกฟันน้ำนมเบียดทำให้ต้องเจริญในตำแหน่งที่อยู่ทางด้านหน้ามากกว่าปกติ โดยปกติแล้วการเรียงตัวของฟันในสุนัขจะมีช่องว่างระหว่างฟันเขี้ยวบน และฟันตัดบน เพื่อเป็นที่อยู่ของฟันเขี้ยวล่าง เมื่อเกิดการคงค้างของฟันเขี้ยวน้ำนมแล้วทำให้ฟันเขี้ยวแท้ถูกเบียดให้ต้องเจริญในตำแหน่งทางด้านหน้ามากขึ้น จะทำให้ช่องว่างซึ่งเป็นที่อยู่ของฟันเขี้ยวล่างเมื่อสุนัขปิดปากมีขนาดแคบลง ทำให้เมื่อสุนัขปิดปากแล้วเขี้ยวล่างจะเกิดการเสียดสีกับฟันเขี้ยวบน หรือฟันตัดบน ทำให้เกิดความเจ็บปวดแก่สุนัขซึ่งมักทำให้สุนัขแสดงพฤติกรรมการกัดแทะที่มากกว่าปกติ และก่อให้เกิดการสบฟันที่ผิดปกติตามมาได้

Picture 2 : การเกิดฟันน้ำนมค้างที่ตำแหน่งฟันเขี้ยวล่าง
              ฟันเขี้ยวแท้ของขากรรไกรล่างจะเริ่มงอกทางด้านในของฟันเขี้ยวน้ำนม แล้วค่อยๆเจริญออกมาทางด้านนอกและแทนที่ในตำแหน่งของฟันเขี้ยวน้ำนมเมื่อฟันเขี้ยวน้ำนมนั้นหลุดออก หากเกิดการคงค้างของฟันเขี้ยวน้ำนมของขากรรไกรล่างจะทำให้ฟันเขี้ยวแท้ถูกเบียดและถูกบังคับให้ต้องเจริญในตำแหน่งที่อยู่ทางด้านในมากกว่าปกติ เมื่อฟันเขี้ยวแท้เจริญเต็มที่จะไปกดบริเวณเพดานปากบนทำให้เกิดบาดแผล ก่อให้เกิดความเจ็บปวดแก่สุนัข และในบางครั้งอาจทำให้เกิดแผลทะลุทำให้เกิดการติดต่อระหว่างช่องปากและช่องจมูกขึ้นได้

              การเกิดฟันน้ำนมค้างในทุกตำแหน่งที่กล่าวมาทำให้ฟันแท้และฟันน้ำนมที่คงค้างนั้นอยู่ชิดกันมากจนเกิดบริเวณของฟันบางส่วนที่ไม่มีเหงือกหุ้มทำให้เป็นที่สะสมของเศษอาหาร เชื้อโรค การดูแลความสะอาดทำได้ลำบาก เป็นเหตุให้เกิดการอักเสบของเหงือกและอาจเกิดโรคปริทนต์เฉพาะที่ตามมา

การแก้ไขภาวะฟันน้ำนมค้าง

            ลูกสุนัขจะเริ่มมีการผลัดฟันเมื่ออายุประมาณ 3-4 เดือน ดังนั้นเมื่อลูกสุนัขของคุณเข้าสู่ช่วงอายุที่เริ่มมีการผลัดฟันแล้ว เจ้าของควรหมั่นสังเกตช่องปากของลูกสุนัขอาทิตย์ละ 1 ครั้งเพื่อดูว่าเกิดการคงค้างของฟั้นน้ำนมหรือไม่ ข้อที่ควรคำนึงถึงก็คือเมื่อไหร่ก็ตามที่ฟันแท้ในตำแหน่งเดียวกันกับฟันน้ำนมโผล่พ้นเหงือกขึ้นมาแล้ว แต่ฟันน้ำนมยังแน่นอยู่ ไม่มีการโยกคลอน แสดงว่ามีแนวโน้มจะเกิดภาวะฟันน้ำนมค้างขึ้น ให้รีบพาลูกสุนัขของคุณไปพบสัตวแพทย์เพื่อทำการตรวจร่างกาย และทำการนัดหมายที่จะถอดฟันน้ำนมที่คงค้างนั้นออก การถอนฟันน้ำนมที่คงค้างนั้นควรทำให้เร็วที่สุดเท่าที่ทำได้เพื่อป้องกันไม่ให้ฟันแท้ที่กำลังงอกนั้นงอกผิดตำแหน่ง

          ในการถอนฟันนั้นลูกสุนัขต้องได้รับการวางยาสลบแบบทั่วตัว เจ้าของจึงต้องพาสุนัขไปตรวจร่างกายและเจาะเลือดเช็คสุขภาพเพื่อทำการนัดต่อไป โดยปกติแล้วผลเลือดที่ทำการตรวจไม่ควรมีระยะเวลานานเกิน 1-2 สัปดาห์ก่อนวันนัด เจ้าของควรทำการงดน้ำลูกสุนัขประมาณ 3 ชั่วโมง และงดอาหารลูกสุนัขประมาณ 4-6 ชั่วโมงก่อนเวลานัด เนื่องจากหากงดอาหารลูกสุนัขนานเกินไปอาจเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำได้ เมื่อสุนัขสลบกลไกในการไอและกลืนจะหายไปหากไม่งดน้ำ งดอาหารก็จะทำให้เกิดการสำลักอาหาร น้ำเข้าปอดทำให้เสียชีวิตได้

Picture 3 : ฟันเขี้ยวน้ำนมของขากรรไกรบน  

          

Picture 4 : ฟันเขี้ยวน้ำนมของขากรรไกรล่าง                               

การดูแลภายหลังการถอนฟัน

             การถอนฟันน้ำนมนั้นสามารถทำได้ 2 วิธีคือ การถอนฟันออกโดยไม่ได้ทำการกรีดเปิดเหงือก และการถอนฟันที่ต้องทำการกรีดเปิดเหงือกแล้วเย็บปิด

             การดูแลในกรณีที่ไม่ได้ทำการกรีดเปิดเหงือก เจ้าของควรให้อาหารนิ่มๆแก่ลูกสุนัขประมาณ 1 สัปดาห์ และให้กินน้ำสะอาดหลังกินอาหารเพื่อช่วยลดการคงค้างของเศษอาหารภายในช่องปาก คุณหมอผู้ทำการถอนฟันจะพิจารณาว่าจะจ่ายยาปฏิชีวนะ ยาลดปวด และวิตามินซี หรือไม่ ขึ้นกับจำนวนฟันที่ถอน และความบอบช้ำของเนื้อเยื่อ และมักนัดมาทำการตรวจในวันถัดไป และ 1 สัปดาห์ หลังทำการถอนฟัน หากมีการจ่ายยา เจ้าของควรป้อนยาต่างๆให้ครบและมาพบสัตวแพทย์ตามนัด

             การดูแลในกรณีที่ต้องทำการกรีดเปิดเหงือกแล้วเย็บปิด เจ้าของควรให้อาหารนิ่มๆแก่ลูกสุนัขประมาณ 2 สัปดาห์ และทำการล้างปากด้วยน้ำสะอาด หรือน้ำยาล้างปาก (สัตวแพทย์เป็นผู้จ่ายให้) ทุกครั้งหลังอาหารเพื่อไม่ให้มีเศษอาหารติดตามปมไหม ส่วนใหญ่แล้วคุณหมอผู้ทำการถอนฟันด้วยวิธีนี้มักจะจ่ายยาปฏิชีวนะ ยาลดปวด และวิตามินซีให้แก่สุนัข แล้วนัดมาทำการตรวจในวันรุ่งขึ้น  1 สัปดาห์ และ 2 สัปดาห์หลังทำการถอนฟัน เจ้าของควรป้อนยาต่างๆให้ครบ และมาพบสัตวแพทย์ตามนัด โดยปกติแล้วไหมที่ใช้เย็บเหงือกจะเป็นไหมละลายทำให้ไม่ต้องทำการตัดไหม แต่หากไหมนั้นละลายช้าเกินไปแล้วก่อให้เกิดการอักเสบของเหงือกที่อยู่รอบปมไหมสัตวแพทย์จะทำการตัดไหม โดยหากสุนัขไม่ดื้ออาจตัดไหมได้โดยไม่ต้องวางยาซึม หรือยาสลบ แต่หากสุนัขดื้อการตัดไหมโดยการวางยาซึมหรือยาสลบจะเป็นผลดีต่อตัวสุนัขมากกว่า เนื่องจากจะลดความเครียด และลดโอกาสการเกิดการบาดเจ็บได้



Written by Webmaster
Published on 2 November 2012
สพ.ญ.นฤพัฒน์  บุนนาค
สพ.ญ.นฤพัฒน์ บุนนาค
ศัลยกรรม, วิสัญญีแพทย์
ผู้สนับสนุนบทความ
• ด้านล่างเป็นเพียงส่วนของการคอมเม้นบทความเท่านั้น หากท่านต้องการสอบถามปัญหาสุขภาพสัตว์เลี้ยง กรุณาเข้าไปที่ http://www.facebook.com/odaijinipet และส่งข้อความเข้าสอบถามใน Inbox ท่านจะได้การตอบกลับโดยเร็วที่สุด และหากเป็นเรื่องเร่งด่วนอยากได้คำตอบโดยเร็วโทรสอบถามได้ที่ 02-9485099 ขอบคุณค่ะ :)