รพ.สัตว์โอะไดจินิ | เปิด 24 ชั่วโมง

โรคขี้เรื้อนขุมขนในสุนัข (Canine demodicosis)


                 โรคขี้เรื้อนขุมขนสุนัขหรือโรคขี้เรื้อนเปียก เป็นโรคผิวหนังที่พบได้บ่อยในสุนัข โดยมีสาเหตุมาจากไรขี้เรื้อนขุมขน (demodex) ซึ่งมักอาศัยอยู่ตามรูขุมขนของสุนัขลูกสุนัขมักได้รับเชื้อนี้จากแม่สุนัขในระยะ 48-72 ชั่วโมงหลังคลอด แต่จะไม่มีการติดต่อไปสู่สุนัขตัวอื่นเมื่อสุนัขมีอายุมากขึ้น ซึ่งต่างจากโรคขี้เรื้อนแห้งในสุนัข (Canine Scabies) ซึ่งสามารถติดต่อจากสัตว์ป่วยที่อยู่ใกล้ชิดกันได้

                 สุนัขปกติอาจพบไรขี้เรื้อนชนิดนี้เป็นปริมาณเล็กน้อยโดยไม่มีรอยโรค แต่พบว่าสุนัขที่มีความผิดปกติทางกรรมพันธุ์หรือมีโรคอื่นๆที่มีผลทำให้ระบบภูมิคุ้มกันของสุนัขผิดปกติก็จะเกิดโรคขึ้นได้ โดยสุนัขที่เป็นโรคมักมีอาการขนร่วง ผิวหนังอักเสบแดงบริเวณรูขุมขน อาจพบมีสะเก็ดรังแคหรือคราบน้ำเหลืองเกาะอยู่ตามผิวหนังได้ โดยปกติแล้วโรคนี้จะไม่ทำให้สุนัขเกิดอาการคัน นอกจากเกิดการอักเสบที่รุนแรงมากหรือมีการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนสุนัขจึงจะแสดงอาการคัน

โรคขี้เรื้อนขุมขนสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ชนิดคือ

                1. โรคขี้เรื้อนขุมขนแบบเฉพาะที่ : สัตว์จะมีอาการของโรคผิวหนังเพียงไม่กี่ตำแหน่งเท่านั้น โดยอาจพบเพียงมีอาการขนร่วงเป็นหย่อมๆหรือมีผิวหนังอักเสบที่ไม่รุนแรง อาจพบรอยโรคที่บริเวณใดๆบนร่างกายก็ได้ แต่บริเวณที่มักพบคือรอบตา รอบปาก ศีรษะ ลำตัวและขาหลัง โรคขี้เรื้อนขุมขนชนิดนี้จะมีอาการของโรคที่ไม่รุนแรง ประมาณ 90 เปอร์เซ็นต์ของสัตว์ป่วยจะหายได้เองโดยไม่จำเป็นต้องทำการรักษา โดยอีกประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์สามารถพัฒนาต่อไปเป็นโรคขี้เรื้อนขุมขนแบบกระจายทั่วตัวซึ่งจะมีอาการของโรคที่รุนแรงกว่า

                2. โรคขี้เรื้อนขุมขนแบบกระจายทั่วตัว :  เป็นโรคขี้เรื้อนขุมขนชนิดที่มีความรุนแรงมากกว่า มักมีรอยโรคเป็นบริเวณกว้างหรือหลายตำแหน่ง อาจพบรอยโรคที่บริเวณเท้าร่วมด้วย

Picture 1 : โรคขี้เรื้อนขุมขนแบบเฉพาะที่ บริเวณข้อศอก

Picture 2 : โรคขี้เรื้อนขุมขนแบบกระจายทั่วตัว

การวินิจฉัยโรค

               สามารถทำการวินิจฉัยได้โดยการขูดตรวจผิวหนังชั้นลึกโดยต้องขูดให้มีเลือดออกเล็กน้อยเนื่องจากไรขี้เรื้อนชนิดนี้จะอาศัยอยู่ในรูขุมขนซึ่งอยู่ในผิวหนังชั้นลึก หรือถ้าสุนัขมีรอยโรคอยู่บริเวณที่ขูดตรวจได้ยากเช่นรอบตา อาจใช้วิธีดึงขนเพื่อมาส่องตรวจทางกล้องจุลทรรศน์ได้ สุนัขที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคขี้เรื้อนขุมขนควรได้รับการตรวจหาโรคอื่นๆซึ่งอาจเป็นสาเหตุหลักของโรคที่ทำให้สัตว์มีภูมิคุ้มกันที่ผิดปกติแล้วจึงการโรคขี้เรื้อนขุมขนตามมา เช่นภาวะไทรอยด์ต่ำ โรคตับแบบเรื้อรัง เป็นต้น

การรักษา

              การรักษาโรคขี้เรื้อนขุมนมักจำเป็นต้องได้รับยาฆ่าไรขี้เรื้อนควบคู่ไปกับการรักษาตามอาการเช่นการให้ยาปฏิชีวนะเพื่อใช้ในการรักษาภาวะติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนที่ผิวหนัง และอาจให้แชมพูที่มีส่วนผสมของตัวยาที่มีฤทธิ์ในการทำความสะอาดลึกถึงรูขุมขน (Follicular-Flushing effect) เพื่อช่วยให้ยาฆ่าไรขี้เรื้อนสัมผัสถึงตัวไรขี้เรื้อนได้ดีขึ้นและยังมีฤทธิ์ในการต้านเชื้อแบคทีเรียที่มักมีการติดเชื้อแทรกซ้อนด้วย

              สำหรับยาที่ใช้ในการรักษาไรขี้เรื้อนนั้นมีหลายรูปแบบทั้งรูปแบบยาทา ยากินหรือยาหยดหลัง ซึ่งการเลือกใช้ยาแต่ละชนิดจะมีข้อจำกัดและประสิทธิภาพในการรักษาที่แตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของสัตวแพทย์ในการเลือกใช้ยาในรูปแบบต่างๆให้เหมาะสมกับอาการของสัตว์ ความรุนแรงของโรค ความสะดวกและสุขภาพของสัตว์เลี้ยง


Written by Webmaster
Published on 2 November 2012
ทีมสัตวแพทย์ประจำ
โรงพยาบาลสัตว์โอะไดจินิ
ผู้สนับสนุนบทความ
• ด้านล่างเป็นเพียงส่วนของการคอมเม้นบทความเท่านั้น หากท่านต้องการสอบถามปัญหาสุขภาพสัตว์เลี้ยง กรุณาเข้าไปที่ http://www.facebook.com/odaijinipet และส่งข้อความเข้าสอบถามใน Inbox ท่านจะได้การตอบกลับโดยเร็วที่สุด และหากเป็นเรื่องเร่งด่วนอยากได้คำตอบโดยเร็วโทรสอบถามได้ที่ 02-9485099 ขอบคุณค่ะ :)