รพ.สัตว์โอะไดจินิ | เปิด 24 ชั่วโมง

โรคผิวหนังที่เกิดจากเชื้อราในสัตว์เลี้ยง (Dermatophytosis)


                โรคที่เกิดจากการติดเชื้อรานั้นเป็นโรคผิวหนังที่พบได้บ่อยในสัตว์เลี้ยง โดยมักพบว่าเกิดจากการติดเชื้อราที่บริเวณผิวหนังชั้นบน ขนและ เล็บ โรคนี้มักทำให้สัตว์มีอาการคัน ขนร่วง และที่สำคัญอย่างยิ่งคือโรคนี้สามารถติดต่อจากสัตว์มาสู่คนได้ (Zoonosis)

สาเหตุของโรค 

                เชื้อรากลุ่มนี้ที่พบในสุนัขได้บ่อยๆ คือ เชื้อราในสกุล Microsporum และ Trichophyton การแบ่งจำแนกชนิดของเชื้อรา Dermatophytes สามารถแบ่งได้ตามแหล่งที่อยู่อาศัยของเชื้อรา เช่นเชื้อราชนิดที่พบตามพื้นดิน (Geophilic) ตัวสัตว์ (Zoophilic) และผิวหนังมนุษย์ (Anthropophilic)

               เชื้อราที่พบได้บ่อยที่สุดในสุนัขและแมวคือ Microsporum canis โดยเฉพาะในแมวเปอร์เซียซึ่งอาจเป็นพาหะของโรคได้โดยไม่แสดงอาการทางผิวหนัง สุนัขมักติดเชื้อโดยการสัมผัสกับสุนัขหรือแมวที่มีการติดเชื้อโดยตรง แต่อาจติดเชื้อสปอร์ของเชื้อราที่อยู่ในผิวหนังมาได้

อาการทางคลินิก

               อาการมีความหลากหลายแต่ลักษณะที่พบได้บ่อยคือขนหยาบ หักง่าย ขนร่วงแบบเป็นวง โดยขอบเขตของรอยโรคค่อนข้างชัดเจน มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางตั้งแต่ 1-8 เซนติเมตร อาจมีผื่นแดงและสะเก็ดรังแคร่วมด้วย อาจพบขนร่วงเป็นหย่อมๆหรือกระจายทั่วตัวก็ได้

Picture1 : ภาพแสดงลักษณะรอยโรคที่ผิวหนังของสุนัขที่ติดเชื้อรา 

โดยอาจพบลักษณะขนร่วงเป็นวงอย่างชัดเจนหรืออาจมีเพยงลักษณะของสะเก็ดบนผิวหนัง

Picture 2 : ภาพแสดงลักษณะรอยโรคที่ผิวหนังของเจ้าของที่ติดเชื้อราจากสัตว์เลี้ยง

การวินิจฉัย

                การวินิจฉัยทำได้โดยการซักประวัติ ตรวจร่างกาย ดูลักษณะของรอยโรคที่พบ และใช้วิธีการอื่นๆ ที่ช่วยในการวินิจฉัยโรคเช่นการดึงขนมาส่องกล้องจุลทรรศน์ และการเพาะเชื้อราบนอาหารเลี้ยงเชื้อซึ่งวิธีการเพาะเชื้อนั้นเป็นวิธีการที่มีความแม่นยำสูง โดยใช้เวลาประมาณ 7-14 วันในการอ่านผลเพาะเชื้อ

Picture 3 : ภาพแสดงผลจากการเพาะเชื้อราที่พบการเปลี่ยนสีของอาหารเลี้ยงเชื้อและมีโคโลนีของเชื้อราที่จำเพาะต่อโรค

การรักษา

              เป้าหมายของการรักษา คือ การกำจัดเชื้อรอที่อยู่บนผิวหนังและป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อไปสู่สัตว์ตัวอื่น คน และป้องกันการปนเปื้อนของเชื้อในสิ่งแวดล้อม เมื่อทำการรักษาที่ตัวสัตว์แล้วจำเป็นต้องทำการรักษาโดยการควบคุมสิ่งแวดล้อมควบคู่กันไปด้วย ยาที่ใช้ในการรักษาโรคมีทั้งยาในรูปแบบใช้ภายนอกและยากิน การใช้ยาภายนอกนั้นมักใช้ร่วมกับการรักษาด้วยยากิน โดยมักไม่ได้ผลดีหากใช้ยาภายนอกเพียงอย่างเดียว การใช้ยาภายนอกเป็นการทำลายเชื้อราที่ติดอยู่ที่ส่วนปลายของเส้นขนและเพื่อเป็นการลดจำนวนของเชื้อราลง โดยอาจพิจารณาเลือกใช้ยาในรูปแบบของครีม สเปรย์หรือแชมพู (ขึ้นอยู่กับลักษณะและการกระจายของรอยโรค) ที่มีส่วนผสมของตัวยาในการฆ่าเชื้อรา การตัดขนจะช่วยให้ประสิทธิภาพในการรักษามากขึ้นและลดการปนเปื้อนของเชื้อในสิ่งแวดล้อม

             ยากินจะมีความจำเป็นในกรณีที่พบว่ามีรอยโรคกระจายอยู่หลายจุด หรือพบว่ามีรอยโรคกระจายทั่วตัว หรือใช้ในกรณีที่สุนัขที่มีขนยาว หรือ กรณีที่การใช้ยาแบบภายนอกแล้วไม่ได้ผล สัตว์ป่วยควรได้รับการรักษาจนกว่าอาการของโรคหายไปและควรทำการเพาะเชื้อเพื่อทำการประเมินประสิทธิภาพในการรักษาและยืนยันว่าสัตว์ป่วยหายจากโรค โดยมักมีระยะเวลาของการรักษาไม่น้อยกว่า 1 เดือน 


Written by Webmaster
Published on 2 November 2012
ทีมสัตวแพทย์ประจำ
โรงพยาบาลสัตว์โอะไดจินิ
ผู้สนับสนุนบทความ
• ด้านล่างเป็นเพียงส่วนของการคอมเม้นบทความเท่านั้น หากท่านต้องการสอบถามปัญหาสุขภาพสัตว์เลี้ยง กรุณาเข้าไปที่ http://www.facebook.com/odaijinipet และส่งข้อความเข้าสอบถามใน Inbox ท่านจะได้การตอบกลับโดยเร็วที่สุด และหากเป็นเรื่องเร่งด่วนอยากได้คำตอบโดยเร็วโทรสอบถามได้ที่ 02-9485099 ขอบคุณค่ะ :)